ท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี จังหวัดจันทบุรี

 จังหวัดจันทบุรีเป็นหนึ่งในจุดหมายทางการท่องเที่ยวของใครหลายๆคน นอกจากแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อแล้ว จังหวัดจันทบุรียังมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่มีความน่าสนใจอีกมากมาย เราลองไปชมกันครับ



“บ้านน้ำใส” / “บ้านท่าศาลา” / “บ้านปากน้ำแขมหนู” / “บ้านถนนมะกอก”



“บ้านท่าเรือจ้าง” / “บ้านบางกะจะ” / “บ้านกลาง” / "บ้านเนินกลาง”



“บ้านกองหิน” / “บ้านล่าง” / “บ้านหนองบัว" / “บ้านทุ่งโตนด”



“บ้านหนองอ้อล่าง” / “บ้านเกาะสาน” / "บ้านปากน้ำเวฬุ" / "บ้านเกาะจิก"



“บ้านสีลำเทียน” / “บ้านซับยี่หร่า” / “บ้านหนองบัว” / “บ้านเตาปูน”



คลิ๊กเข้าไปชมภาพและอ่านข้อมูลของแต่ละชุมชนกันได้เลยจ้า...

 “บ้านน้ำใส”  เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม โดยคนในชุมชนมีความเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา และสืบสานงานศิลปหัตถกรรมอันงดงามไว้

วัดสะพานเลือก วัดที่สวยงาม ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความยาว ๕๖ เมตร เท่าบทพุทธคุณ ๕๖ พยางค์ มีความสูงจากฐาน ๑๖ เมตร หรือ ๑๖ ชั้นฟ้า มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เมื่อชาวบ้านขอพรแล้วสมหวัง มักถวายผ้าห่มคลุมองค์พระนอน
 



งานศิลปหัตถกรรมตอกภาพ ลูกโลก และพวงมโหตร สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความผูกพันของคนในชุมชนและวัด คือการอนุรักษ์งานหัตถกรรมเหล่านี้เพื่อตกแต่งสถานที่ ทั้งวัดและบ้านเรือน เมื่อมีงานบุญ หรืองานรื่นเริงต่างๆ โดยใช้ “กระดาษว่าว” วัสดุที่ไม่มีสารเคมีเจือปน โดยช่างฝีมือพร้อมมีการสาธิตให้ชม หรือเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวทดลองทำด้วย

 



ฟาร์มเกษตรผสมผสาน นั่งรถเข้าไปในฟาร์มเกษตรอันอุดมสมบูรณ์และเขียวขจี เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ ฯลฯ รวมทั้งพืชเศรษฐกิจประจำถิ่นอย่างสวนพริกไทย ที่มีบรรยากาศดี จนลืมไปเลยว่าอยู่ในประเทศไทย

 



ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผักสดปลอดสารพิษ ผลไม้ปลอดสารพิษ พริกไทยแห้งพันธุ์ซาราวัก เงาะลอยแก้ว แครกเกอร์กล้วยกรอบ กล้วยฉาบ เผือกฉาบ น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างรถ น้ำยาล้างพื้น เสื้อยืด หมวก พวงกุญแจ แก้วเก็บความเย็น





 

 “บ้านท่าศาลา” เป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและหัตถกรรมจักสาน โดยมีวัดท่าศาลาเป็นศูนย์กลางชุมชน ทั้งชาวบ้านหมู่ ๓ ท่าศาลา หมู่ ๑ หนองหอย หมู่ ๒ เตาหม้อ และหมู่ ๔ ทุ่งสน ซึ่งในวันพระ ชาวบ้านจะมาร่วมทำบุญและเมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาคนเฒ่าคนแก่จะพากันมาถือศีลที่วัด

วัดท่าศาลา ประดิษฐานพระประธานที่ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง ซึ่งชาวบ้านได้ขุดพบท่อนไม้ตะเคียนทองที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินบ้านหนองหอย มีความยาวถึง ๑๓ วา หรือราว ๒๖ เมตร เมื่อนำมาไว้ที่วัด และมีชาวบ้านมาขอพรเรื่องโชคลาภ หากสมหวังดังที่ขอพร ชาวบ้านจะถวายชุดไทย และร่ายรำ
 



งานจักสาน ต้นไผ่ที่นำมาเหลาเป็นเส้น สานเป็นภาชนะต่างๆ ใช้งานในครัวเรือน และวิถีเกษตรกร เช่น ตะกร้า กระจาด กระบุง ข้องดักปลา ฯลฯ ละเอียดพิถีพิถันด้วยด้วยลวดลายโบราณ และลวดลายร่วมสมัย ซึ่งแต่ละลายจะต่างกันไปตามภาชนะ อีกทั้งมีความแข็งแกร่งด้วยคุณสมบัติที่โดนน้ำทะเลได้ เพียงแค่ต้องผึ่งแดดให้แห้ง ก็จะใช้งานได้นานหลายปี

 



ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มเกษตรกรท่าศาลา บนพื้นที่ ๓๒ ไร่ ของคุณมะลิ คันธีระ ที่ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษได้ทำการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ประกอบด้วยบ้านอยู่อาศัย นาข้าวที่ปลูกข้าวพันธุ์ ๑๐๕ และพันธุ์ ๖๗ จากศูนย์ข้าวปราจีนบุรี รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ ๔ บ่อ เพื่อดำรงชีพ และทำการเกษตรในสวนยางพารา สวนผลไม้ สวนพืชผัก ฯลฯ

 



อาหารท้องถิ่น อาหารพื้นบ้านจากวัตถุดิบสดๆ “ลาบผักกูด” ผักที่ขึ้นตามป่าเขาและร่องสวน คัดยอดอ่อนปรุงรสยำ ใส่หมูสับและข้าวคั่ว “ไก่ต้มระกำ” ไก่บ้านปรุงรสต้มยำ ได้ความเปรี้ยวจากผลระกำ ขนมหวาน “บัวลอยมังคุด” นำเนื้อมังคุดสุกคลุกแป้งบัวลอย ปั้น และต้มกับกะทิสด โรยด้วยเนื้อมะพร้าวอ่อน และยังมีแป้งจากดอกอัญชัน และใบเตยด้วย

 



ผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำมังคุดสกัด น้ำลูกหม่อน หม่อนกวน มังคุดกวน ท็อฟฟี่ถั่วลิสงกะทิสด พริกไทยแห้ง เห็ดหลินจืออบแห้ง กะปิเคยเจ้าหลาว โลชั่นหม่อน สบู่เหลวเปลือกมังคุด สบู่เปลือกมังคุด ยาหม่องเปลือกมังคุด






 

 “บ้านปากน้ำแขมหนู” ทุกเช้าที่ท่าเรือของชุมชนชาวประมงบ้านปากน้ำแขมหนู จะมีบรรยากาศคึกคักของการค้าขายอาหารทะเลใกล้กันกับท่าเรือยังมีสะพานปากแม่น้ำแขมหนูเป็นจุดชมทิวทัศน์ทะเลที่สวยงามที่สุดของจังหวัดด้วย

วัดปากน้ำแขมหนู วัดปากน้ำแขมหนู หรือ “โบสถ์สีน้ำเงิน” เพราะด้านนอกอุโบสถตกแต่งด้วยลายกระเบื้องสีน้ำเงิน ภายในมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น หลวงพ่อองค์ดำ พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร รูปปั้นสมเด็จพระเจ้าตากสิน
 



ศาลเจ้าแม่เมี้ยน ที่โปรดปรานดอกไม้สีแดง หรือปลัดขิก ศาลเจ้าพ่อปากน้ำแขมหนูที่โปรดปรานเบียร์ มีร้านขายของฝากกับอาหารของชุมชน และมีถนนคนเดินช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์

 



วิถีชีวิตชาวประมง ชมบรรยากาศของเรือเล็กที่ออกไปวางอวนปูอวนกุ้ง และเรือใหญ่ที่ออกทะเลลึก โดยเรือแต่ละลำหากสังเกตจะไม่เหมือนกัน เพราะใช้งานตามประเภท เช่น เรืออวนปู เรือจับ เรือครอบปลากะตัก เรือท่องเที่ยว เรือประมง-พาณิชย์ ฯลฯ

 



ล่องเรือชมทิวทัศน์ ล่องเรือสู่บริเวณต้นแม่น้ำสู่คลองวังโตนด มีทิวทัศน์ป่าชายเลน และชุมชนริมคลอง ฯลฯ ส่วนเส้นทางด้านนอกคือบริเวณปากแม่น้ำออกสู่ทะเล ชม “เขาช่อง” หรือช่องว่างระหว่างเกาะที่มีถ้ำ ซึ่งหินได้เคลื่อนตัวลงมาปิดปากถ้ำ และทุกวันพระ ชาวบ้านจะได้ยินเสียงดนตรีลอดออกมา ทั้งสองฝั่งยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่เขาช่อง และศาลเจ้าพ่อเขาช่อง รวมทั้งสามารถเห็นทิวทัศน์แนวหินสีชมพูได้ด้วย

 



อาหารท้องถิ่น “ยำไข่แมงดา” ไข่จะเยอะ มัน และอร่อยในช่วงวางไข่เดือนสิงหาคม แต่รับประทานได้ตลอดปี “น้ำพริกไข่ปู” ไข่ปูล้วนๆ มีมากในฤดูวางไข่เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน “หมึกไข่ต้มน้ำดำ” ต้องจับแบบสดเท่านั้น จึงจะได้ “ขี้ ” สีดำแบบนี้ ต้มกับหัวหอม พริกไทย น้ำปลา จนได้ความหวานธรรมชาติ “ปลากระบอกต้มส้มระกำ” ได้รสเปรี้ยวจากระกำ และมะขามเปียก “แกงป่าปลาเห็ดโคน” หรือปลาลูกโคน หอมเครื่องแกงป่าจากใบยี่หร่า และกระชาย

 



ผลิตภัณฑ์ชุมชน ปลาอินทรีย์เค็ม ปลาทูตากแห้ง ปลาหมึกกลมแห้ง ปลากะตักตากแห้ง ปลาหมึกผ่าตากแห้ง ปลากรอบปรุงรส กะปิแท้ชุมชนปากน้ำแขมหนู แมงกะพรุนอบเกลือซีฟู้ดหรือแมงกะพรุนกรอบลวกจิ้ม กุ้งแห้ง หมึกกรอบปรุงรสหมึกกลมเจาะตา






 “บ้านถนนมะกอก” เป็นชุมชนที่มีภูมิทัศน์คล้ายเกาะ จึงอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ และสัตว์น้ำ อาชีพหลัก คือ การทำประมง เลี้ยงกุ้ง ปลากะพง และฟาร์มหอยนางรมอันเลื่องชื่อ

ไหว้พระธาตุบุญแจ่มฟ้า พระธาตุบุญแจ่มฟ้าฯ ก่อตั้งโดยหลวงพ่อดาบส สุมโน ซึ่งท่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานยังองค์พระเจดีย์ ส่วนพระวิหารเป็นลักษณะผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมภาคเหนือและภาคกลางโบราณ ยอดเป็นรูปเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ภายในประดิษฐาน “พระแก้วมรกตหยกเขียว” และประดับด้วยจิตรกรรมภาพพุทธประวัติ และภาพวาดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตอนทุบหม้อข้าวก่อนเข้าตีเมืองจันทบูร
 



ล่องเรือชมฟาร์มหอยนางรม เส้นทางการชมฟาร์มหอยนางรมของชุมชน สามารถเดินทางได้โดยการล่องเรือ และการล่องแพ ได้สัมผัสธรรมชาติ พร้อมชมวิถีชีวิตชาวประมงในฟาร์มหอยนางรม การแกะหอย ชิมหอยนางรม แม้ตัวไม่โต แต่รสชาติเป็นเลิศ หอยนางรมของชุมชนถนนมะกอกมีให้กินเกือบทั้งปี ยกเว้นเดือนสิงหาคมเป็นช่วงวางไข่ของหอยนางรม นอกจากชมฟาร์มหอยนางรมแล้ว ยังได้ชมวิวป่าชายเลนที่สมบูรณ์ตลอดสองฝั่งคลอง

 



อาหารท้องถิ่น ตะกาดเง้าขึ้นชื่อเรื่องฟาร์มหอยนางรม “หอยนางรมซีฟู้ด” จึงเป็นจานเด่นห้ามพลาด แม่ครัวจะคัดหอยสดอายุ ๑๒ เดือน ตัวไม่ใหญ่มาก แต่เนื้อหวาน ไม่คาว เสิร์ฟพร้อมยอดกระถิน หัวหอมเจียว น้ำจิ้มพริกเกลือหรือน้ำจิ้มซีฟู๊ด น้ำพริกเผาหอยนางรม “ปลากะพงทอดแดดเดียว” ที่นำปลากะพงอายุ ๖ เดือน มาตากแดดเดียว ซึ่งมีให้รับประทานตลอดปีเช่นกัน “ชมโฉมแม่นาง” หรือต้มยำทะเลน้ำข้น ที่ยกทะเลมาใส่ ทั้งกุ้ง หอยนางรม ปลากะพง ปลาหมึก ใส่น้ำพริกเผาหอยนางรม และนมสด



 “บ้านท่าเรือจ้าง” เป็นชุมชนญวนอพยพมาตั้งรกรากอยู่บริเวณท่าน้ำเมืองจันทบุรีฝั่งตะวันตกเมื่อกว่า ๓๐๐ ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมไว้ได้ พร้อมกับปรับตัวเข้ากับชุมชนพุทธได้อย่างกลมกลืน จึงมีร่องรอยประวัติศาสตร์ และความร่วมสมัยอยู่มาก

อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล เรียกกันสั้นๆ ว่า “โบสถ์คาทอลิก” คือความงามของสถาปัตยกรรมแบบโกธิค ซึ่งภายในตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยหน้าต่างกระจกสี (Stained glass) และพื้นกระเบื้อง โดยเป็นสองสิ่งที่นำมาจากประเทศฝรั่งเศสมีอายุกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว นอกจากนี้ ยังมีแม่พระประดับพลอย ๒๐๐,๐๐๐ เม็ด ในวิหารมีการตกแต่งเพดานเป็นท้องเรือไม้โนอาห์ ส่วนฐานของตัวโบสถ์นั้นแข็งแกร่งด้วยท่อนซุงเรียงขัดกัน โดยไม่ใช้เสาเข็ม
 



เส้นทางเดินชมวิถีชีวิตและถนนศิลปะ มีเส้นทางศึกษาวิถีชีวิตคนในชุมชน เริ่มต้น และจบลงที่วัดโรมันคาทอลิก ได้เห็นอาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างด้วยไม้ ตลอดจนชุมชนริมแม่น้ำ ระหว่างทางยังผ่าน “ถนนศิลปะ” (Street art) ที่ศิลปินในท้องถิ่นจะมารวมกันวาดภาพบนกำแพง (Graffiti) เล่าเรื่องราววิถีชีวิตชุมชน ทำให้เหมาะแก่การเดินเล่นมาก

 



อาหารท้องถิ่น ตั้งแต่อาหารเช้าแบบเวียดนาม เช่น ไข่กะทะ ข้ามต้มหมู ก๋วยจั๊บญวน ฯลฯ ที่เสิร์ฟพร้อมชาร้อน หรือจะเลือกเป็นกาแฟดริปจุงเวียง (Trung Nguyen) ก็ได้ ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ๊น้องท่าเรือจ้างที่ขายมาเกือบ ๕๐ ปี ทั้งก๋วยเตี๋ยวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง ฯลฯ อาหารท้องถิ่นร่วมสมัย เช่น เมี่ยงญวน หรือบั่นหอย หลนปลาอินทรีย์ แกงเผ็ดลูกชิ้นปลาอินทรีย์ ไก่บ้านต้มระกำ ขนมโบ๋ และกล้วยสายเดี่ยว เพราะแม่ค้าใส่สายเดี่ยวย่างกล้วยห่ามพอดี ก่อนทุบ ราดด้วยน้ำจิ้ม (กะทิและน้ำตาลทราย)

 



ผลิตภัณฑ์ ทุเรียนช๊อต Magnet เสื่อกกจันทบูรผสมดิ้นเงินดิ้นทอง ชุดไพลินประกายพรึก อาลัวกุหลาบนมสด โปสการ์ด กระเป๋าสตางค์ น้ำพริกกุ้งแห้ง กล้วยเขย่า เทียนที่ระลึก




 “บ้านบางกะจะ” เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน ที่คงวิถีชีวิตดั้งเดิม มีประเพณีที่น่าสนใจ ทั้งเทศการกิจเจ เทศการทิ้งกระจาด การไหว้เจ้า เนื่องจากมีศาลเจ้าถึง ๓ ศาล รวมถึงประเพณีตักบาตรเข้าพรรษา และออกพรรษา ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานกว่าร้อยปี ที่มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ มาร่วมทำบุญกันเป็นจำนวนมาก ชุมชนจีนตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง เป็นที่ตั้งทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเป็นแหล่งพลอยที่มีชื่อเสียงของโลก โดยเฉพาะบุษราคัม มีการสันนิษฐานว่าเมื่อเขาพลอยแหวนระเบิด ทำให้แร่รัตนชาติไหลเป็นสายลงมากระจายอยู่ทั่วหมู่บ้าน และริมคลองบางกะจะ จนคนเฒ่าคนแก่เล่าว่าเพียงขุดดินปลูกตะไคร้ก็เจอพลอยแล้ว

วัดพลับ วัดที่ตั้งชื่อตาม “ต้นพลับ” ที่ออกผลสีเหลืองทอง มีสิ่งสำคัญ เช่น ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หอไตรกลางน้ำ เจดีย์กลางน้ำทรงระฆังคว่ำ วิหารไม้ทรงจัตุรมุข ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางทุกรกิริยา พระปรางค์ที่บรรจุพระยอดธง หรือพระยอดธงกู้ชาติ เรือยาวหม่อมหัวเขียว พระเมรุโบราณสำหรับเจ้านายในอดีต บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผุดจากใต้ดิน ซึ่งนำมาเป็นน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีราชาภิเษก
 



ตลาดทุบหม้อ ตลาดนัดย้อนยุคที่มีบรรยากาศปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องถึงต้นกรุงธนบุรี เพื่อให้อิงกับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมาพักแรมที่นี่ ตั้งอยู่ในวัดพลับ โดยเปิดบริการเฉพาะวันเสาร์ –อาทิตย์ จึงเป็นศูนย์รวมผลิตภัณฑ์พื้นบ้านทั้งของกินของใช้ และของที่ระลึก

 



ถนนบางกะจะ ถนนสายเล็กซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จประพาส เมื่อ ๕๐ ปีก่อน เป็นแหล่งค้าพลอยที่สำคัญ โดยชาวบ้านจะขุดพลอย ค้าพลอย เจียระไนพลอย จนกล่าวกันว่า “มีพลอยสวยเหมือนมีลูกสาวสวย” เพราะพ่อค้าแม่ค้ามารอซื้อพลอยถึงปากหลุมพลอยเลยทีเดียว ต่อมาได้จัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี” ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งซื้อขายพลอยระดับโลก

 



ร้านพลอยเจตนามณี แม้ถนนบางกะจะลดบทบาทการเป็นแหล่งพลอยลง แต่ยังมีบ้านช่างฝีมือเจียระไนพลอยและร้าน “เจตนามณี” ที่ทำธุรกิจขายพลอยจนถึงออกแบบและจำหน่าย มีราคาหลักพันถึงหลักล้านโดยเฉพาะบุษราคัมที่มีชื่อเสียงที่สุด สตาร์บุษ (Golden star) และแบลคสตาร์ (Black star) ซึ่งเมื่อต้องแสงไฟจะปรากฏแฉก ๖ แฉก รวมทั้งเขียวส่องหรือมรกต

 



ผลิตภัณฑ์ชุมชนขนมจากทุเรียน ขนมฝอยมรกต ขนมทองหยิบ พรมเช็ดเท้า รองเท้าแตะผ้า แหวนเงิน กล้วยตาก บานาน่าชิพ น้ำสมุนไพร ขนมไข่





 “บ้านกลาง” เดิมพื้นที่หมู่บ้านเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีทั้งป่าชายเลนและป่าไม้เบญจพรรณ เป็นแหล่งอาศัยหากินของโขลงช้างป่า จากหลักฐานและการเล่าต่อกันมา มีสระน้ำที่เกิดจากการนอนเกลือกกลิ้งของช้างซึ่งมีอยู่ ๒ สระด้วยกัน ชาวบ้านเรียกสระน้ำนี้ว่า สระหน้าโบสถ์ (ปัจจุบันมีการอนุรักษ์ไว้ส่วนหนึ่ง เป็นบ่อน้ำใช้ในวัด) และสระตาอ๋อ (พื้นที่บริเวณนี้ ในเวลาต่อมาได้ถวายเป็นของวัดและถูกถมกลบไปแล้ว) ซึ่งสระเหล่านี้ เป็นหลักฐานและเป็นที่มาของชื่อ ตำบลบางสระเก้า และด้วยตามลักษณะของพื้นที่มีหมู่บ้านอื่นล้อมรอบ จึงมีชื่อว่า บ้านกลาง หมู่ ๒ ในอดีตพื้นหมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าชายเลน สัตว์ป่า และสัตว์น้ำนานาชนิด มีการสันนิษฐานว่าชาวชองเป็นผู้ที่เข้ามาสร้างหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่ ติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวญวนและคนไทยจากภาคใต้โดยอาศัยการเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ด้วยลักษณะพื้นที่มีความเหมาะสมและสะดวกในการจอดเรือสินค้า จากการติดต่อค้าขายก่อให้เกิดความสัมพันธ์ สร้างหลักปักฐาน ทำมาหากินสร้างครอบครัว ขยายเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้น จนมาถึงปัจจุบัน

“วัดบางสระเก้า” กราบสักการะหลวงพ่อเต่า ที่ศาลาบูรพาจารย์ และชมสระน้ำในตำนานโบราณ สระที่ ๙ ที่อยู่คู่กับตำบลบางสระเก้ามาช้านาน
 



บ้านทอเสื่อ ของดีขึ้นชื่อ “เสื่อจันทบูร” แวะมาชมกรรมวิธีการผลิตตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย จากวัตถุดิบธรรมชาติ กลายมาเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่า

 



ตลาดสี่มุมเมรุ แหล่งของฝากนักช้อป ทั้งอาหารทะเลสด แห้ง และแปรรูป เหมาของอร่อยก่อนกลับ ทั้งทานเองและซื้อเป็นของฝาก

 



ศูนย์ศิลป์เสื่อ จุดแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์เสื่อกกมากมายหลากหลายแบบ ทั้งแบบเต็มผืน และแบบแปรรูป อาทิ หมวก กระเป๋า

 



ผลิตภัณฑ์ เสื่อกก น้ำพริกแกง สละลอยแก้ว ขนมมัดใต้ กะปิ กล้วยฉาบ แกงเป็ด ชาถั่งเช่าสีทอง กาแฟโบราณ ข้าวเหนียวเหลืองหน้ากุ้ง





 “บ้านเนินกลาง” เดิมพื้นที่หมู่บ้านเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีทั้งป่าชายเลนและป่าไม้เบญจพรรณ เป็นแหล่งอาศัยหากินของโครงช้างป่าจากหลักฐานและการเล่าต่อกันมา มีสระน้ำที่เกิดจากการนอนเกลือกกลิ้งของช้าง ซึ่งชาวบ้านเรียกสระน้ำนี้ว่า “สระยายจ๋วน” เพราะอยู่ติดหรืออยู่ใกล้กับบ้านของยายจ๋วน ปัจจุบันนี้สระได้ถูกถมกลบไปแล้ว “สระยายจ๋วน” เป็นหนึ่งในสระเก้าสระ ที่เป็นที่มาของชื่อตำบลบางสระเก้า และด้วยตามลักษณะของพื้นที่ ที่เป็นที่เนินราบ และอยู่ระหว่างกลางของบ้านกองหินกับบ้านกลาง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า“บ้านเนินกลาง” ในอดีต พื้นที่หมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าชายเลน สัตว์ป่าและสัตว์น้ำนานาชนิด มีการสันนิษฐานว่าชาวชองเป็นผู้ที่เข้ามาสร้างรกรากปักฐานอยู่ในพื้นที่ติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวญวน และคนไทยจากภาคใต้ โดยอาศัยการเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ด้วยลักษณะพื้นที่มีความเหมาะสมและสะดวกในการจอดเรือสินค้าจากการติดต่อค้าขายก่อให้เกิดความสัมพันธ์สร้างรกรากปักฐาน ทำมาหากิน สร้างครอบครัว ขยายเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้น จนมาถึงปัจจุบัน

ศูนย์การเรียนรู้บ้านเนินกลาง ฟังปราชญ์ชาวบ้านเล่า ของดี ของเด่น บ้านบางสระเก้า พร้อมแวะจุดเช็คอินห้ามพลาดบริเวณศาลาไม้ไผ่ริมคลอง ชมวิวป่าต้นจากไกลสุดลูกหูลูกตา
 



ขนมควยลิง ขนมชื่อแปลกและเป็นขนมโบราณที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นแท่งเล็กๆ รีๆ ต้มในน้ำเดือด แล้วนำขึ้นมากับคลุกมะพร้าวและน้ำตาล ซึ่งถ้าได้เห็นหน้าตาของขนมแล้ว คงพอเดาได้ถึงที่มาของชื่อ และยังมี ขนมต้มแดง และต้มขาว ให้ได้ชิมกันอีกด้วย

 



ทอเสื่อ สานข้อง ชมวิถีชีวิตชุมชนคนน้ำตื้น ถักทอหัตถกรรมพื้นบ้านสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยเฉพาะข้องที่เป็นอุปกรณ์ใส่ปลาที่ได้จากการทำประมง เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่งสานด้วยผิวไม้ไผ่ ใช้สำหรับใส่ ปลา ปู กุ้ง หอย กบ เขียด

 



แส้ตียุง ชาสมุนไพร ชมวิธีทำแส้ตียุงจาก “งวงจาก” ซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านและชมการสาธิตวิธีทำเครื่องดื่มชาสมุนไพรพื้นถิ่น พร้อมดื่มให้ชื่นใจ

 



ขนมตาล ขนมตะไล แวะชิมขนมหวานขึ้นชื่อ ทั้งขนมตาลที่ทำจากลูกตาล และขนมตะไล หรือขนมถ้วยตะไล ที่ทำจากน้ำตาลโตนด กะทิ เกลือ และน้ำอ้อยคั้นสด ซึ่งคนภาคกลางมักจะเรียกว่า ขนมถ้วย

 



ผลิตภัณฑ์ เสื่อกก กะปิ น้ำพริกแกง ถั่วลิสงต้ม กุ้งแห้ง งอบ ตะข้อง ไม้ตียุง ลูกประคบสมุนไพร ชาสมุนไพร






 “บ้านกองหิน” เดิมทีหมู่บ้านมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “บ้านล่าง” แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านกองหิน เพราะในยุคสมัยนั้น มีผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันหลายสมัย อาศัยอยู่ที่บ้านกองหินที่มาของชื่อบ้านกองหิน เนื่องจากมีกองหินดาดอยู่ในลำคลองติดกับหมู่บ้าน ๓ จุดใหญ่ๆ คือ จุดแรก อยู่ตรงบ้านนายเกตุ ไสยวรรณ จุดที่สองอยู่ตรงกับบริเวณบ้านนายสำอาง สมานพรรค และจุดสุดท้ายอยู่ตรงบริเวณท่าช้างซึ่งเป็นเขตติดต่อกับพื้นที่หมู่ ๕ บ้านแถวนา แต่ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ในตำบลยังนิยมเรียกชื่อเดิมคือ “บ้านล่าง” เนื่องจากเมื่อพ้นเขตหมู่บ้านไปทางตะวันตก ก็จะเป็นปากแม่น้ำจันทบุรี จึงถือกันว่าเป็นหมู่บ้านที่อยู่ล่างท้ายสุดของตำบล

 



ในอดีตพื้นที่หมู่บ้านอุดมไปด้วยป่าชายเลน สัตว์ป่าและสัตว์น้ำนานาชนิด มีการสันนาฐานว่า ชาวชองเป็นผู้ที่เข้ามาสร้างรกรากปักฐานอยู่ในพื้นที่ ติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวญวน และคนไทยจากภาคใต้ โดยอาศัยการเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ด้วยลักษณะพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและสะดวกในการจอดเรือสินค้าจึงมีท่าจอดเรือในสมัยนั้นถึง ๓ จุดด้วยกัน คือท่าตาลิ ท่าพลับ และท่ายายจาง จากการติดต่อค้าขายก่อให้เกิดความสัมพันธ์ สร้างรกรากปักฐานทำมาหากิน สร้างครอบครัว ขยายเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้น จนมาถึงปัจจุบัน

 



ไหว้หลวงพ่อหินแก้ว แวะสักการะหลวงพ่อหินแก้ว พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านบอกต่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์นักแล

 



ทอเสื่อ หัตกรรมของคนในพื้นที่ จากวัตถุดิบธรรมชาติในชุมชนที่มีอยู่อย่างล้นหลาม ทั้งกก และปอ กลายเป็นผลิตภัณฑ์งานฝีมือของคนในชุมชน

 



ทำเหละ เหละ คือ งอบ หรือหมวกใบจาก โดยการนำใบจากมาเย็บเป็นหมวกเพื่อใช้สำหรับคุมแดด กันฝน สามารถระบายความร้อนได้ดี ปีกหมวกด้านข้างมีความกว้าง เพื่อป้องกันกิ่งไม้

 



ยกยอ ชมวิถีประมงของชาวบ้านฝั่งคลอง กับการ “ยกยอ” ซึ่ง ยอ คือเครื่องมือจับปลาที่มีลักษณะเป็นร่างแหผืนสี่เหลี่ยม มุมทั้งสี่ผูกติดกับคันสำหรับยก โดยยอขนาดเล็กจะใช้จับบปลาตามแหล่งน้ำนิ่งและไม่ลึกแต่ถ้าเป็นยอขนาดใหญ่นิยมใช้ดักปลาในน้ำลึกบริเวณแม่น้ำและลำคลองชมป่าตะกาดใหญ่ ป่ารูปหัวใจซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติอันสมบูรณ์กับพื้นที่ป่าชายเลนกว่า ๑๕๐ ไร่ ชมแปลงหอย ล่องเรือไปชมแปลงหอยนางรมแล้วร่วมทำกิจกรรมเก็บหอยไปด้วยกันพร้อมชิมหอยนางรมสดๆ กับน้ำจิ้มสูตรเด็ดน้ำพริกระกำรสจัดจ้าน

 



ผลิตภัณฑ์ เสื่อบุนวมอย่างหนา เสื่อกกบุฟองน้ำ ปลานวลจันทร์ไร้ก้างแดดเดียว เสื่อกกรองจาน หอยนางรมดองพร้อมทาน กุ้งแห้ง ปลาสามรสทรงเครื่อง หมวกเสื่อกก ขนมควยลิง สมุนไพรพื้นบ้านชงดื่มบำรุงสุขภาพ






 “บ้านล่าง” (บ้านแถวนา) เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เก่าแก่มาแต่โบราณมีอายุประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว ผู้คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานสันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก ๒ พื้นที่ด้วยกันคือผู้ที่อพยพมาจากภาคใต้ เดินทางมาค้าขายทางเรือ แล้วหลบมรสุมเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ กลุ่มที่สองเป็นคนพื้นเมืองในจังหวัดจันทบุรี กลุ่มชาวชองได้ขยายพื้นที่ทำมาหากินและติดต่อค้าขายในแถบนี้ กระทั่งเกิดการตั้งถิ่นฐานขึ้น บ้านแถวนาตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านลำดับสุดท้ายของตำบลบางสระเก้า ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านอยู่ท่ามกลางท้องทุ่งนา เป็นที่รู้จักและเรียกขานกันติดปากว่า “บ้านแถวนา”

จากอดีตที่ผ่านมาบ้านแถวนานับว่าเป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่ง เป็นเส้นทางหากินและพักแรมของโขลงช้างป่า มีหลักฐานอ้างอิง คือสระน้ำที่เกิดจากการนอนเกลือกกลิ้งของโขลงช้างเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่หรือเรียกว่าสระ มีจำนวน ๙ สระ ปัจจุบันชุมชนยังได้อนุรักษ์ไว้เป็นสระน้ำสาธารณะให้ชาวบ้านได้ใช้ทำการเกษตร จึงเป็นที่มาของตำบลบางสระเก้าและสระน้ำเหล่านั้นก็อยู่ในบ้านแถวนาอยู่หลายสระและนอกจากสระน้ำแล้วบริเวณท้ายหมู่บ้านที่ติดกับลำคลองหนองบัว จะมีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดจากฝั่งลงไปถึงลำคลอง ปู่ย่าตายายบอกกล่าวเล่าต่อกันมาว่าเป็นเส้นทางที่โขลงช้างใช้ขึ้นลงข้ามคลองหนองบัวไปยังพื้นที่หมู่บ้านเสม็ดงาม ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “ท่าช้าง”
 



บ้านปลาธนาคารปู แหล่งอนุบาลและเพาะพันธ์ปลา ปู กุ้ง หอย ชมรมไก่พื้นเมือง นอกจากเพลิดเพลินกับการชมสัตว์น้ำแล้ว ที่หมู่บ้านยังอนุรักษ์ไก่ชนพื้นเมืองอีกด้วย กิจกรรมการทอเสื่อ กิจกรรมหลักของชุมชน คือการทอเสื่อ มีทั้งเสื่อปอ และเสื่อกก ฟาร์มเลี้ยงชันโรง ฟาร์มเลี้ยงชันโรงหรือผึ้งชันโรง ซึ่งก็คือผึ้งขนาดเล็ก ที่สร้างผลผลิตเป็นน้ำผึ้ง และ ชัน สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของชุมชน

 



สระโบราณ หนึ่งใน ๙ สระน้ำในตำนาน หลักฐานที่มาของชื่อตำบล “บางสระเก้า” ศูนย์กีฬาและการละเล่นพื้นบ้าน เยาวชนในหมู่บ้านอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้าน อาทิ เดินกะลา รีรีข้าวสาร สวนเกษตรพอเพียง วิถีเกษตรพอเพียง ความเขียวชอุ่มทำให้เย็นตา ความพอเพียงทำให้เย็นใจ วิสาหกิจทอเสื่อสุริยา การรวมกลุ่มของชุมชนทอเสื่อ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ฝีมือประณีต ล่องแพ ล่องแพ เล่นน้ำ ชมเหยี่ยวแดง

 



ผลิตภัณฑ์ กระเป๋าเสื่อ น้ำปลาแท้ของชุมชน กะปิคุณเสนาะ น้ำพริกแกง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผึ้งชันโรง กุ้งต้มหวาน เมี่ยงคำ ชาใบขู่ กล้วยตากหลากรส หอยนางรมพร้อมทาน




 “บ้านหนองบัว” ชุมชนที่เงียบสงบริมคลองหนองบัว ซึ่งชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้านด้วย “หลักรอ” ที่คล้ายโพงพางเพื่อดักกุ้งหอยปูปลา ที่นี่ยังเป็นแหล่งกุ้งแห้งคุณภาพดีที่สุดและขายได้ราคาดีที่สุดในประเทศเฉลี่ยกิโลกรัมละ ๒,๐๐๐ บาท โดยแปรรูปจาก “กุ้งนา” ที่พบได้มากในชุมชนแห่งนี้

ตลาดเช้าหนองบัวหรือชุมชนขนมแปลก  ตลาดเช้าที่เต็มไปด้วยอาหารทะเลสดๆ เช่น ปลาควยถอก ปลาสัมหลัง ปลาแป๊ะ ปลากด ปลาจวด ปลากะปี๊ กุ้งขาว กุ้งนา ปูทะเล ปูไข่ ปูแป้น หรือปูใบไม้ โดยวิถีชีวิตชาวประมงจะออกเรือในช่วง “น้ำชอบ” หรือน้ำไหลเชี่ยว ตั้งแต่บ่ายสามโมงเป็นต้นไป และกลับในมาถึงตอนเช้ามืด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดเปิดทำการพอดีราวตี ๔ จนถึง ๘ โมงเช้า
 



ล่องเรือชมป่าชายเลน สัมผัสความสงบเงียบและการเข้าถึงธรรมชาติขณะล่องเรือชมความงามของป่าชายเลนที่สมบูรณ์ด้วยต้นโกงกาง ต้นแสม ต้นฝาดแดงที่จะออกดอกช่วงตุลาคม ต้นลำพูที่มีหิ่งห้อยตอนกลางคืน ต้นสักน้ำเค็ม ฯลฯ ซึ่งช่วงน้ำลดชาวบ้านจะ “ล้วงปู” หลังจากนำลอบมาดักไว้พร้อมเหยื่อ เพื่อล่อให้ปูปลาเข้ามา นอกจากนี้ ในเวลาเย็นยังจะได้เห็นภาพฝูงเหยี่ยวบินจากป่าชายเลนกลับรัง

 



โรงหีบอ้อยหนองบัว ชมกระบวนการผลิตน้ำตาลอ้อยแบบปลอดสารเคมีทุกขั้นตอน ตั้งแต่คั้นน้ำอ้อยโดยปล่อยให้ไหลไปตามราง กรอง ต้ม และเคี่ยว ๕ กะทะ จนข้นเหนียว แล้วปล่อยลงมาตามราง เพื่อคาดและพริกจนแห้ง จากนั้นใช้ไม้เหยียบทุบให้ละเอียด



 “บ้านทุ่งโตนด” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แยกออกมาจากหมู่ที่ ๖ ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ผู้นำชุมชนในตอนนั้นก็ได้เกิดความคิดที่จะตั้งชื่อหมู่บ้านโดยมีการพูดคุยกันกับชาวบ้านจึงได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าในพื้นที่นี้ มีต้นตาลโตนดอยู่กลางนาในหมู่บ้านเพียงต้นเดียวและก็มีภูเขาในบางส่วนจึงได้ร่วมใจกัน ตั้งชื่อว่า “บ้านทุ่งโตนด” กลายเป็นที่มาชื่อบ้านจนทุกวันนี้ อาชีพของคนในหมู่บ้านในอดีตเริ่มจากการทำนา และมีการปรับเปลี่ยนมาทำสวนส้ม และปัจจุบันทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง เป็นต้น

ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามโครงการพระราชดำริ สถานที่เรียนรู้แบบครบวงจรด้านงานเกษตรกรรม ทั้งไม้ผลและทฤษฏีใหม่ ในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อโลกหรือเกษตรอินทรีย์ บนพื้นที่ ๑๐๙ ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นสวนผลไม้ ๖๐ ไร่แหล่งน้ำ ๑๒ ไร่และพื้นที่ว่างเปล่าอีก ๓๗ ไร่ โดยอยู่ในการควบคุมดูแลของ กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ ประสานกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชนให้ได้รับประโยชน์มากที่สุดต่อไป ภายในมีฐานการเรียนรู้ทั้งหมด ๗ ฐาน การเลี้ยงหมูหลุม การทำปุ๋ยอินทรีย์ การเลี้ยงผึ้งและชันโรง ฐานเรียนรู้ระบบน้ำและประมง การปลูกพืช ๕ ระดับ ฐานเกษตรกรทฤษฎีใหม่ และ สวนผลไม้
 



วัดทุ่งโตนด มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้าน ภายในวัดร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มากมาย มีสระเลี้ยงปลาไว้ให้ชาวบ้านและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาทำบุญได้มีโอกาสทำทานด้วยการให้อาหารปลาในสระ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สงบ และสวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อน และปฏิบัติธรรม

 



ศาลเจ้าพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม เกิดขึ้นจากคนในชุมชนที่มีความศรัทธาในองค์เจ้าแม่กวนอิมได้สร้างขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนหรือนักท่องเที่ยวทั่วไปได้สักการบูชากราบไหว้ขอพรซึ่งมีความเชื่อกันว่าพระโพธิสัตว์กวนอิมมีความอ่อนโยน เมตตา กรุณา มีความรักต่อมนุษย์ ขอพรสิ่งใดแล้วจะสมดังปรารถนา

 



สินค้า OTOP ที่บ้านทุ่งโตนดนั้นเต็มไปด้วย สวนผลไม้มากมายจึงก่อให้เกิดสินค้าโอทอป ที่แปรรูป จาก ผลไม้ ในหมู่บ้าน อาทิ สละลอยแก้ว เผือกฉาบ เงาะในน้ำเชื่อม กล้วยฉาบ สับปะรดกวน คุกกี้สับปะรด นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นๆที่คนในชุมชนผลิตขึ้นมา อีกมากมาย เช่น แคปหมู สบู่น้ำผึ้งชันโรง หมี่กรอบ โรตีกรอบ เป็นต้น

 



ผลิตภัณฑ์ กล้วยฉาบ สละลอยแก้ว แคบหมู สบู่น้ำผึ้ง เผือกฉาบ เงาะในน้ำเชื่อม สับปะรดกวน โรตีกรอบ คุกกี้สับปะรด หมี่กรอบ





 “บ้านหนองอ้อล่าง” หมู่บ้านเล็กๆ ในอดีตมีประชากรอาศัยอยู่ที่ประมาณ ๑๐ กว่าหลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำนาและทำสวนผลไม้ ที่มาของชื่อบ้านหนองอ้อ นั้นมีที่มาจากบริเวณหมู่บ้านมีหนองน้ำธรรมชาติ และตามบริเวณหนองน้ำจะมีต้นอ้อขึ้นอยู่มาก ชาวบ้านจึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านต่อมาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงให้แยกหมู่บ้านออกมาจากหมู่ ๓ เดิม จึงเรียกหมู่บ้านหนองอ้อล่าง หมู่ที่ ๙

วัดหนองอ้อ วัดหนองอ้อ ตั้งอยู่ที่ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดจันทบุรีแห่งที่ ๓๗ สร้างเมื่อปี พ.ศ ๒๔๒๗ และได้รับการประกาศวิสุงคามสีมาเมื่อปี ๒๔๙๒ ถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดจันทบุรีมีพระครูวิศาลรจันทรสุขคุณ (เฉียบ จนฺทสโร) เป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรกหลวงพ่อพอดี หลวงพ่อพอดีเป็นพระประธานที่ประดิษฐานใน อุโบสถหลังใหม่ของวัดหนองอ้อ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มีชื่อเสียงด้านพระเมตตา เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป หลวงพ่อพอดีนับเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชนและผู้คนทั่วไป เป็นพระพุทธรูปองค์แรกของประเทศไทยที่หล่อเอาเศียรขึ้นโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
 



สถานที่ท่องเที่ยว บ้านลุงหมัก ศูนย์เรียนรู้เห็ดเยื่อไผ่ ที่จะให้คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเพาะเห็ดเยื่อไผ่ ตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นตอนการแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ การทำเซรั่มจากเห็ดเยื่อไผ่ สบู่เยื่อไผ่ เป็นต้นผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากขยะรีไซเคิล ผลิตพันธ์กระเป๋าจากขยะรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเอาขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่คนในชุมชน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน อาทิ การนำซองกาแฟมาผลิต เป็นกระเป๋า กล่องกระดาษทิชชู่ ที่มีความสวยงาม และทนทานอีกด้วย กลุ่มมังกรดิน เมื่อเดินทางมาถึงที่กลุ่มมังกรดิน จะได้รับการต้อนรับด้วย Welcome drink “กาแฟหมา” ที่มีให้เลือกดื่มทั้งแบบร้อนแลแบบเย็น อร่อยและมีประโยชน์ หลังจากนั้นจะได้เข้าร่วมกิจกรรมฐานเรียนรู้ อาทิเช่น สปาไส้เดือน การทำน้ำหมัก วิธีร่อนปุ๋ยไส้เดือน การปลูกผักสมุนไพรจากปุ๋ยไส้เดือน เป็นต้น กลุ่มงานไม้ระบายอารมณ์ แต่งแต้มสีสันลงบนพื้นไม้จากเศษไม้ธรรมดา กลายเป็นงานประดิษฐ์ที่มีชิ้นเดียวในโลกที่เกิดจากมือของคุณเอง ศิลปะปั้นขี้เลื่อย จากเศษขี้เลื่อยนำมาปั้นกลายเป็นผลงานศิลปะ ที่มีมูลค่าราคาสูงร่วมเรียนรู้และลงมือทำผลงานศิลปะกับปราชญ์ชุมชนที่จะสอนให้คุณสร้างงานศิลปะจากขี้เลื่อย

 



ผลิตภัณฑ์ เห็ดนางฟ้า น้ำยาเอนกประสงค์ใช้ในครัวเรือน เห็ดสวรรค์ น้ำพริกมันหนองอ้อล่าง แคปหมู กลุ่มแปรรูปไม้ พืชผักปลอดสารพิษ ปุ๋ยมูลไส้เดือน น้ำหมักมูลไส้เดือน ภาพปั้นขี้เลื่อยนู่นต่ำ-สูง



 “บ้านเกาะสาน” เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ดั้งเดิมได้รับการประกาศเป็นหมู่บ้านเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่ม ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำ มีคลองลี่ไหลผ่านหมู่บ้านและแม่น้ำจันทบุรีไหลผ่าน ชาวบ้านมีอาชีพทำนาเป็นหลัก ต่อมาพืชสวนเป็นพืชเศรษฐกิจชาวบ้านจึงมีการปลูกสวนทดแทนการทำนา สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านนั้นมาจาก มีที่ดอนอยู่ที่หนึ่งแต่มีพื้นที่ในหมู่บ้านส่วนหนึ่งประมาณ ๕ ไร่ เป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงซึ่งน้ำไม่เคยท่วมเลย ทุกๆฤดูน้ำหลากชาวบ้านจึงอพยพไปอาศัยอยู่บนที่ดอนแห่งนั้นที่มีสภาพไม่ต่างจากเกาะในเวลาน้ำท่วม ราษฎรในหมู่บ้านได้ร่วมกันตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่บนพื้นที่ดอนดังกล่าวเพื่อเป็นที่สักการะบูชาเป็นที่พึ่งทางใจแล้วเรียกบริเวณนั้นว่า “ดอนศาล” ต่อมาชาวบ้านได้เปลี่ยนอาชีพจากการทำนามาเป็นการทำสวนผลไม้และทำอาชีพจักสานเป็นอาชีพรอง โดยใช้วัสดุจากไม้ไผ่ จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกหมู่บ้านจาก "บ้านดอนศาล" ได้เรียกเพี้ยนไปเป็น “เกาะสาน” จนถึงปัจจุบัน

วัดน้ำรัก วัดเก่าแก่ ที่อยู่คู่หมู่บ้านมานาน ที่มาของชื่อวัดนั้น เดิมที่หมู่บ้านเกาะสานนั้น จะมีช่วงฤดูที่น้ำหลากและบริเวณที่ตั้งของวัดจะเป็นจุดที่น้ำจากหลากหลายสายไหลมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว เหมือนความรักของน้ำที่มารวมตัวกันเลยกลายเป็นชื่อของวัด ภายในวัดจะมีโบสถ์โบราณที่ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์และบูรณะให้งดงามดังเดิม
 



ตลาดน้ำเกาะสาน ในหมู่บ้านเกาะสาน มีสระน้ำที่ทางหมู่บ้านขุดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ จึงเกิดเป็นตลอดน้ำเกาะสานขึ้น ความงดงามของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ๒ ข้างทางและร้านค้าที่ชาวบ้านนำสินค้าที่ผลิตได้มาจำหน่ายในราคาย่อมเยาหากท่านใดต้องการ กางเต็นท์ บริเวณริมน้ำ ที่นี้มีบริการ

 



ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านเกาะสาน นอกจากนี้ ที่บ้านเกาะสานยังมีศูนย์การเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่บ้านนายวิโรจน์ มังกร ตั้งใจทำขึ้นเพื่อมอบความรู้ด้านการเกษตร ให้กับชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ภายในศูนย์มีการปลูกพืชผักผลไม้แบบผสม อาทิ ทุเรียน มังคุด กล้วย มะนาวยักษ์ เห็ดนางฟ้าภูฐาน หรือจะเป็นพืชสวนครัวแบบปลอดสารพิษ ที่สดและสะอาด สินค้า OTOP ในชุมชนมีการรวมกลุ่มกัน ผลิตแปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า ที่นอกจากการขายผลไม้สดเพียงอย่างเดียว อาหารแปรรูปของที่บ้านเกาะสาน ได้แก่ มังคุดกวน ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน ข้าวเหนียวแดง กล้วยกวน กล้วยกรอบแก้ว เห็ดสามรส นอกจากอาหารแปรรูป ยังมี ผักสดปลอดสารพิษ พิมเสนน้ำ และปุ๋ยชีวภาพอีกด้วย

 



ผลิตภัณฑ์ ทุเรียนทอด มังคุดกวน ทุเรียนกวน กล้วยกวน ข้าวเหนียวแดง ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ผักปลอดสารพิษ กล้วยกรอบแก้ว เห็ดแปรรูป น้ำมันเหลือง




 “บ้านปากแม่น้ำเวฬุ” หรือชื่อที่นักท่องเที่ยวรู้จักทั่วกัน คือ หมู่บ้านไร้แผ่นดิน เป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า ๑๖๐ ปี กลุ่มคนกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากอยู่ในหมู่บ้านคือชาวจีน โดยการตั้งรกรากที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนมีการตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตลุ่มน้ำ โดยไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดิน อาศัยอยู่ตามแนวของป่าโกงกางที่มีความอุดมสมบูรณ์ ตรงบริเวณปากแม่น้ำเวฬุ การประกอบอาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ในลักษณะประมงพื้นบ้าน

ศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ได้มีการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วประมาณ ๓ ครั้ง เพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมอายุของศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุมีอายุประมาณ ๑๖๐ กว่าปี สืบเนื่องด้วยคนในชุมชนเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ศาลเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุจึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความสำคัญต่อคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนทั้งการประกอบอาชีพ ที่ชาวบ้านจะไปขอให้เดินทางออกทะเลให้มีความปลอดภัยและได้อาหารทะเลกลับมาเยอะๆ นอกจากนี้ยังขอพรในเรื่องสุขภาพให้แข็งแรง หายจากการเจ็บป่วย ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาลาเจ้าพ่อปากน้ำเวฬุ



 



วัดบางชัน หรือวัดอรัญสมุทธาราม ครั้งแรกตั้งเป็นสำนักสงฆ์แรกในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ และได้รับอนุญาต (วิสุงคามสีมา) ให้จัดตั้งเป็นวัดในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ มีชื่อเรียกว่า "วัดอรัญสมุทธาราม" ซึ่ง อรัญ แปลว่า ป่าและน้ำ ธาราม แปลว่า ที่อยู่สบาย ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางชันเพราะต้องการให้ตรงกับชื่อหมู่บ้านและตำบลบางชัน ซึ่งที่บริเวณวัดบางชันจะมีพิพิธภัณฑ์ของโบราญ เรือเก่า (เรือขุด) และวิสุงคามสีมา สมัยรัชกาลที่ ๕

 



ชมฝูงเหยี่ยวแดง การชมฝูงเหยี่ยวแดงหัวขาว เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นสัตว์ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน การที่มีเหยี่ยวแดงในบริเวณลุ่มน้ำเวฬุ จึงหมายถึงความสมดุลของธรรมชาติของผู้คน สัตว์ และป่าในแถบนี้ การไปถึงยังจุดให้อาหาร อาจเป็นเรือหางยาว หรือโฮมสเตย์มีบริการแพเปียก ลากไปยังจุดชมเหยี่ยวแดง การให้อาหารเหยี่ยวจะมีเพียงวันละครั้ง ในช่วงประมาณ ๓-๔ โมงเย็น

 



ชมทะเลแหวก หาดทรายสีดำ ทะเลแหวก ที่บางชัน มีความยาว ขนาด ๒๐๐ เมตร กว้าง ๔ เมตร เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ความพิเศษของทะเลแหวกที่นี้คือ หาดทรายสีดำ ที่สามารถนำมาขัดผิว เหมือนกับการทำสปาผิวเพื่อทำให้ผิวนุ่มลื่น

 



ศึกษาวิถีชีวิตชุมชน การประกอบอาชีพของชาวบ้านการทำปะมง การทำกุ้งแห้ง เรียนรู้ขั้นตอนกว่าจะเป็นกุ้งแห้ง ตั้งแต่การนำกุ้งสดทั้งตัวมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปนึ่งทั้งเปลือกประมาณ ๔๕ นาที แล้วนำไปตาก ๒ แดด หลังตากแล้ว นำกุ้งใส่ในถุงผ้า แล้วใช้ถุงผ้าตีพอให้เปลือกกุ้งหลุดจากตัว จากนั้นจึงนำมาร่อนเอาเปลือกออก

 



ข้อมูลผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ซึ่งเป็นการประมงพื้นบ้านชาวบ้านได้มีการนำเอาผลผลิตที่ได้จากการประกอบอาชีพนำมาแปรรูป โดยอาศัยภูมิปัญญาของคนในชุมชน ได้ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีความอร่อย สะอาด สินค้า โดดเด่นตามเอกลักษณ์ตามฉบับชาวประมงแท้ๆ ประกอบด้วยกุ้งแห้ง กะปิ ปลากระบอกแดดเดียว ปลากระตักแห้ง น้ำพริกกุ้งแห้ง กุ้งต้มหวาน ปลาเค็ม เคยต้มตากแห้ง น้ำเคยไข่ หมึกแห้ง






 “บ้านเกาะจิก” ที่มาของชื่อเกาะจิก เป็นเพราะที่เกาะแห่งนี้มีต้นจิกจากเกาะจิกใน นำมาปลูกไว้ที่นี่ เกาะจิกแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ เกาะจิกนอก เกาะจิกกลาง และเกาะจิกใน สำหรับบ้านเกาะจิกนั้นตั้งอยู่บนเกาะจิกนอก สันนิษฐานว่าแต่เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ ที่มีกลุ่มคนไทยมาอาศัยอยู่ตั้งแต่แรก คนที่นี่มีการประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก หากุ้ง หาปู หาปลา ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนบนเกาะได้อย่างมากมาย อาหารที่ขึ้นชื่อของที่นี่จึงเป็นอาหารทะเลสดๆ การเดินทางมายังบ้านเกาะจิก ต้องนั่งเรือจากท่าเรือบ้านอ่างกะป่อง ข้ามฝั่งไปท่าเรือสะพานปลาบ้านเกาะจิก ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที สำหรับการท่องเที่ยวบนเกาะจิกนั้นสามารถเดินชมหรือเลือกปั่นจักรยานก็ได้ บ้านเกาะจิกเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่เงียบสงบ เหมาะสำหรับการพักผ่อนเป็นอย่างมาก ซึ่งจุดเด่นของที่นี่คือการใช้แผงโซล่าเซลล์ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ทั้งหมู่บ้าน

สถานที่ท่องเที่ยวที่แนะนำ ศาลเจ้าแม่เกาะจิก เป็นศาลที่มาอายุราว ๓๐๐ ปี เป็นศาลที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ผู้คนนิยมมาขอเรื่อง การค้าขาย โชคลาภ ศาลเจ้าพ่อมังกรทอง ศาลนี้น่าจะมีอายุประมาณ ๘๐-๙๐ ปี สำหรับที่มาของชื่อศาลเดิมมีคนพบเห็นงูและในการสร้างศาลได้มองเห็นต้นตะแบกมีลักษณะเหมือนหัวพญานาค จึงตั้งชื่อว่ามังกรทองตั้งแต่นั้นมา ต้นจิกต้นแรก เป็นต้นไม้ที่เป็นที่มาของชื่อเกาะได้มีการนำเข้ามาปลูกโดยนำมาจากเกาะจิกใน สุสานหอย เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการทับถมของเปลือกหอยเป็นเวลานาน ประภาคาร เดิมในสมัยรัชกาลที่ ๕ เคยเป็นที่อยู่ของทหารในสงครามอินโดจีน และหลังจากนั้นได้ทำการอพยพไปอยู่ที่ตัวเมืองจันทบุรี หาดทรายหอยแตก เป็นการทับถมของเปลือกหอยโดยถูกคลื่นทะเลพัดพาจนแตกกระจาย จนหาดทรายทั้งหาดเลียบเนียนสวยงาม โรงผลิตไฟฟ้าโซล่าเซลล์ชุมชน บ้านเกาะจิกเป็นหมู่บ้านที่อยู่กลางทะเล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเข้าไม่ถึง เกาะจิกทั้งเกาะจึงใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าชุมชน “ทำเองใช้เอง”
 



การคมนาคม การเดินทางสู่บ้านเกาะจิก โดยถนนสายสุขุมวิท (สายบางนา-ตราด) และถนนสาย ๓๑๕๔ (แสนตุ้ง แหลมงอบ เกาะช้าง) ลงเรือที่ท่าเรือบ้านอ่างกะป่อง หมู่ที่ ๔ ตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ใช้เวลาเดินทางสู่หมู่บ้านทางเรือ ประมาณ ๓๐ นาที

 



ของฝากจากชุมชน หมึกตากแห้ง ปลากุเลาเค็ม กะปิ กุ้งต้มหวาน หมึกแดดเดียว ปลาอินทรีย์แดดเดียว กุ้งเหยียดต้มหวาน ปลากระบอกแดดเดียว หมึกหวาน หมึกไข่ตากแห้ง



 “บ้านสีลำเทียน” เริ่มก่อตั้งประมาณปี ๒๕๑๐ สมัยก่อนที่หมู่บ้านสีลำเทียนได้แยกออกมาจากหมู่ที่ ๓ บ้านอิเทพ คำว่า “ สีลำเทียน” เป็นชื่อของพันธุ์ข้าวจ้าวชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันมากในแถบนี้ เพราะแถบนี้มีสภาพเหมาะกับการทำนาถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญในอดีต แต่ปัจจุบันพื้นที่ทั้งหมดที่เคยเป็นนาข้าวได้เปลี่ยนเป็นนากุ้งเมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีมานี้ อีกชื่อหนึ่งคือ “บ้านน้ำแดง” เนื่องจากในบริเวณนี้มีต้นฝาดมาก เมื่อฝนตกลงมาน้ำบริเวณนั้นจะกลายเป็นสีแดงเนื่องจากเปลือกของต้นฝาดมีคุณสมบัติให้สีแดง อีกชื่อหนึ่งคือ “บ้านตาโตน” ตาโตนเป็นชื่อของคนที่อพยพมาอยู่ที่นี้แล้วมีคนมาอาศัยมากขึ้นอยู่รวมกันในบริเวณนั้น

ท่องเที่ยวโดยชุมชน “บ้านน้ำแดง” มีต้นทุนทางทรัพยากรที่พร้อม ด้วยป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของลุ่มน้ำเวฬุ มีความพร้อมตามหลัก ๓ ป.คือปลา (ปลานวลจันทร์) ปูและป่าชายเลน รวมทั้งหลัก ๓ อ.คืออากาศ อัธยาศัย และอนุรักษ์ ส่วนการจัดท่องเที่ยวทำให้นักท่องเที่ยวได้ ๓ ค. คือความรู้ ความรัก และความสุข
 



สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ โรงเรียน ตชด.บ้านน้ำแดง ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น ศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลน ธนาคารปู การเลี้ยงปลานวลจันทร์ พื้นที่เศรษฐกิจพอเพียง ศาลเจ้าแม่สร้อยระย้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านสีลำเทียน ความพิเศษที่แตกต่างจากศาลเจ้าแม่สร้อยระย้าของที่อื่นคือที่นี่จะมีดอกไม้แดง (อยากรู้ว่าดอกไม้แดงเป็นอย่างไร ต้องมาเยี่ยมชมที่บ้านสีลำเทียนด้วยตัวเอง) ที่ต้องนำมาสักการะเจ้าแม่ การล่องเรือชมวิถีชาวบ้าน ความงดงามของวิถีชีวิตชาวบ้าน ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายผสานกับความสมบูรณ์ของป่าโกงกาง นอกจากนี้ยังมีสัตว์อนุรักษ์ อย่างเหยี่ยวแดง ปลาตีนตามชายเลน ให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงามอีกด้วย

 



สินค้า OTOP กุ้งต้มหวาน กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง ปลานวลจันทร์แดดเดียว ปลากระบอกแดดเดียว น้ำพริกเผากุ้งแห้ง ลำแพนกวน ประสักเชื่อม/กวน ปลากุลาเค็ม ปลาอินทรีย์เค็ม

 



อาหารพื้นถิ่น ยำสามดอก น้ำพริกปูไข่ แกงรัญจวนตะลุมบอน ทอดป่าเลน ลูกจากลอยแก้ว

 



การเดินทาง ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ (หมายเลข ๗) เดินทางสู่ อำเภอบ้านบึง (ชลบุรี) ประมาณ ๖๐ กม. จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๔๔ (บ้านบึง) มุ่งสู่อำเภอแกลง ประมาณ ๙๐ กม. ถึงถนนสุขุมวิท (ทล.๓) เดินทางสู่จังหวัดจันทบุรี ประมาณ ๖๐ กม.ไม่เข้าจังหวัดจันทบุรี จนถึงแยกปากแซง เลี้ยวขวาไปทางจังหวัดตราดหรืออำเภอขลุง วิ่งประมาณ ๑๓ กม. เลยทางเข้าน้ำตกพลิ้วมาจะถึงแยกแหลมสิงห์ตรงข้ามกับศูนย์วิจัยการเกษตร ให้เลี้ยวขวาเข้าทางแหลมสิงห์ตรงไปประมาณ ๑๐ กม.ถึงโรงพยาบาลแหลมสิงห์เลยไปหน่อยจะเจอ ๗-๑๑ อยู่ซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ ๑ กม. จะเจอป้ายชาวหนองชิ่มยินดีต้อนรับเป็นป้ายใหญ่ๆให้เลี้ยวซ้ายเข้าไป ผ่าน อบต.หนองซิ่ม ไปจะเจอสามแยกให้เลี้ยวซ้าย แล้ววิ่งตรงไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านสีลำเทียน





 “บ้านซับยี่หร่า” เป็นชุมชนที่ร่มรื่นด้วยภาพสวนยางพารา และสวนผลไม้นานาชนิด เป็นหมู่บ้านต้นแบบที่ได้รางวัลดีเด่น “บ้านสวยเมืองสุข” ชาวบ้านเชื่อมโยงกันด้วยพุทธศาสนา โดยมีวัดซับยี่หร่าเป็นศูนย์รวมจิตใจ

วัดซับยี่หร่า ไหว้พระขอพรพระพุทธชินราชภายในอุโบสถ พร้อมชมภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องราวพระพุทธเจ้าสิบชาติ และภาพในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขณะทรงผนวช วัดแห่งนี้งดงามด้วยสถาปัตยกรรมไทยที่ผสมผสานกับจินตนาการของพระครูปลัดพิทักษ์ ปภาโส เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน จนได้โบสถ์หลังแอ่นหนึ่งเดียวในโลก อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข โดยวัดนำธรรมะเข้าสู่ชุมชนและชุมชนเจริญได้ด้วยชาวบ้าน
 



ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตั้งอยู่ภายในลานกว้างด้านหน้าของโรงเรียนณรงค์ กิติขจร เป็นจุดแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนและจุดพักรับประทานอาหารพื้นบ้านจากวัตถุดิบท้องถิ่น



 



อาหารท้องถิ่น “ไก่กระวาน” อร่อยด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น “หน่อกระวาน” ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่พบได้มากบนเขาสอยดอย “ปลานิลแดดเดียว” ที่เลี้ยงในกระชังด้วยน้ำจากภูเขา “แกงเรียง” อร่อยด้วยผักสดนานาชนิด “ยำผักกูด” ผักท้องถิ่นที่ขึ้นตามป่าเขา และร่องสวนที่มีน้ำ “ขนมเจ้าบ้านเจ้าเรือน” ขนมต้มหลากสีที่ใช้สีจากธรรมชาติ

 



ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผักพืชผักริมรั้วนานาชนิด ชาเขียวใบหม่อน สละลอยแก้ว ขนุนทอด ทุเรียนอบ กล้วยฉาบ พริกไทยแห้ง ปลาร้านิล กะปิเคย สบู่สมุนไพรขมิ้นผสมน้ำผึ้ง

 



ศูนย์เรียนรู้โอทอป และสวนสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง สวนเกษตรปลอดสารพิษ และฟาร์มไก่ในโอบล้อมขุนเขา ทั้งสวนยางพารา สวนผลไม้ สวนพริกไทย สวนหมาก สวนพืชผักสวนครัวผสมผสาน และไก่อารมณ์ดีที่เลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติ ทำให้ไข่ไก่สีแดงสวย และเปลือกเนียนละเอียด พร้อมกิจกรรม เช่น กรีดยาง เก็บไข่ เก็บพริกไทย เก็บพืชผัก และการ “ปัดดอกทุเรียน” ด้วยพู่กัน เพื่อเร่งให้ติดดอกติดลูกเร็วขึ้น และทุเรียนเรียงตัวสวย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวสวนแถบนี้

 



ศาลเจ้าพ่อหินกอง น้ำตกหินกอง และฟาร์มปลานิล มีตำนานว่าเล่ามีหินกองหนึ่งอยู่บนภูเขา ซึ่งชาวบ้านได้พากันล้มหิน แต่เช้าวันรุ่งขึ้นกลับพบว่าหินยังอยู่ที่เดิม ชาวบ้านจึงสร้างศาลด้วยความศรัทธา ส่วนน้ำตกหินกองมีน้ำใสเย็น ลงเล่นได้ตลอดปี ไม่ไกลกันยังมีฟาร์มปลานิลที่เลี้ยงด้วยน้ำธรรมชาติจากภูเขาด้วย





 

 “บ้านหนองบัว” เป็นชุมชนริมทะเลที่ดำเนินชีวิตด้วยการทำประมงพื้นบ้าน ทุกวันจึงมีอาหารทะเลสดจากเรือมาจำหน่ายนำรายได้เข้าสู่ครัวเรือน โดยเฉพาะที่หมู่บ้านสำเภาคว่ำ ณ สำนักปฏิบัติธรรมสำเภาคว่ำ มีพระประธานที่งดงาม พร้อมด้วยทิวทัศน์ทะเล ซึ่งจากบริเวณนี้สามารถนั่งรถซาเล้งไปยังจุดท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ได้สบาย

ชมวิถีชีวิตชาวบ้านแกะกุ้งหอยปูปลา แม้ว่าท่าเรือใหญ่ของหมู่บ้านจะตั้งอยู่ที่ปากน้ำกระแจะในพื้นที่หมู่ ๑ แต่ก็มีท่าเรือเล็กๆ กระจายอยู่หลายแห่ง เพื่อความสะดวกของชาวประมงในการลากอวนขึ้นฝั่งตั้งแต่เช้ามืด เพื่อแกะกุ้งหอยปูปลาที่หามาได้ โดยเฉพาะปูม้า ชาวบ้านจะแกะชิ้นส่วนตั้งแต่ปูยังสดๆ โดยมีคำขวัญว่า “เปิดกระดองเห็นนม เปิดนมเห็นเนื้อ ขาวจัง อยากกินต้องลอง”
 



ล่องเรือชมป่าชายเลน สัมผัสความสงบเงียบและการเข้าถึงธรรมชาติขณะล่องเรือชมความงามของป่าชายเลนที่สมบูรณ์ด้วยต้นโกงกาง ต้นแสม ต้นฝาดแดงที่จะออกดอกช่วงตุลาคม ต้นลำพูที่มีหิ่งห้อยตอนกลางคืน ต้นสักน้ำเค็ม ฯลฯ ซึ่งช่วงน้ำลดชาวบ้านจะ “ล้วงปู” หลังจากนำลอบมาดักไว้พร้อมเหยื่อ เพื่อล่อให้ปูปลาเข้ามา นอกจากนี้ ในเวลาเย็นยังจะได้เห็นภาพฝูงเหยี่ยวบินจากป่าชายเลนกลับรัง

 



โรงหีบอ้อยหนองบัว ชมกระบวนการผลิตน้ำตาลอ้อยแบบปลอดสารเคมีทุกขั้นตอน ตั้งแต่คั้นน้ำอ้อยโดยปล่อยให้ไหลไปตามราง กรอง ต้ม และเคี่ยว ๕ กะทะ จนข้นเหนียว แล้วปล่อยลงมาตามราง เพื่อคาดและพริกจนแห้ง จากนั้นใช้ไม้เหยียบทุบให้ละเอียด

 



ขนมบ่าว-สาว” ขนมวัฒนธรรมที่ผูกพันกับพิธีแต่งงานของชาวจันทบุรี โดยเจ้าบ่าวจะชักชวนเพื่อนฝูงมามากวนขนม “บ่าว-สาว” เพื่อสื่อถึงความรักที่เหนียวแน่น โดยขนมบ่าวเป็นตัวแทนเจ้าบ่าวหรือข้าวเหนียวแดง ที่นำข้าวเหนียวเคี่ยวกับน้ำตาลและกะทิ ส่วนขนมสาวเป็นตัวแทนเจ้าสาวหรือกะละแม ที่นำแป้งมาเคี่ยวกับน้ำตาลและกะทิ ปัจจุบันหาเจ้าบ่าวทำตามธรรมเนียมดั้งเดิมได้ยาก จึงมีครัวเรือนที่ยังรับทำขนมชนิดนี้อีกทั้งทำขายในตลาดด้วย

 



ขนมท้องถิ่น “ขนมเทียนน้ำสามสี” คล้ายบัวลอย แต่ลูกโตกว่า ทำจากแป้งบัวลอยที่เติมสีธรรมชาติลงไป เช่น สีม่วงจากดอกอัญชัญ สีเขียวจากใบเตย ฯลฯ แล้วนำมาห่อกับไส้ขนมเทียนที่มีความเผ็ดนิดๆ ต้มกับกะทิที่เคี่ยวน้ำตาลทรายแดงไว้ อร่อย และมีที่นี่ที่เดียว

 



ผลิตภัณฑ์ชุมชน หอยปากเป็ดดอง กุ้งต้มหวาน ปลาต้มหวาน น้ำปลา กะปิเคย น้ำพริกแกงสูตรโบราณ น้ำก๋วยเตี๋ยวผัดเส้นจันท์ ขนมเปี๊ยะไส้แตก  บอระเพ็ดเชื่อม กระเป๋าถักโครเชต์






 “บ้านเตาปูน” เป็นชุมชนชุมเก่าแก่ที่ชาวบ้านยึดอาชีพประมงพื้นบ้านตลอดริมคลองพังราดมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว ลำคลองสายนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งอาศัยของเหยี่ยวแดง แหล่งผืนป่าชายเลน อีกทั้งเป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อครั้งบุกโจมตีเมืองจันทบุรีเพื่อรวบรวมไพร่พล ก่อนเข้าโจมตีพม่าที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จนไทยได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ด้วย

ศาลาริมน้ำคลองพังราด เป็นจุดต้อนรับนักท่องเที่ยว จุดประทานอาหารท้องถิ่น จุดทำกิจกรรม และจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
 



ล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวบ้าน ชมภาพป่าชายเลนยาวริมฝั่งคลองกว่า ๑,๘๐๐ ไร่ ชมจุดปล่อยเรือในเทศกาลแข่งเรือ ชมการดำน้ำลึก ๓-๔ เมตร ในช่วงน้ำขึ้นของชาวประมงเพื่อลงไปช้อนหอยนางรม โดยมีเพียงหน้ากากอันเดียว ปัจจุบันเหลือเพียงแห่งเดียวแล้วในจังหวัด ชมฟาร์มเลี้ยงหอยนางรมที่ชาวประมงจะนำ “ลูกปูน” มาห้อย เพื่อให้เกิดการวางไข่ ชม “ยกยอ” เพิงไม้ที่ยกตัวสูงเหนือลำคลองใต้ร่มไม้ ซึ่งชาวบ้านจะปล่อย “ยอ” ลงจนแตะพื้นเลน แล้วยกขึ้นเพื่อจับสัตว์น้ำ รวมทั้งชมภาพเหยี่ยวแดงคืนกลับรังยามเย็น

 



อาหารท้องถิ่น  “หอยนางรมสดพร้อมเครื่องเคียง” หอยตัวพอดีคำ รสชาติหวาน รับประทานกับยอดกระถิน หัวหอมเจียว พร้อมน้ำจิ้มพริกเกลือ หรือน้ำจิ้มซีฟู้ด และน้ำพริกเผาหอยนางรม “ซีฟู้ดจานรวม” ทั้งหอยพอก กุ้งย่าง และปลากระพงย่าง “ปลากระบอกกระวาน” ชูรสด้วยหน่อกระวาน “หอยหนีน้ำ” หอยจุ๊บแจงในแกงเผ็ดกะทิ ตบท้ายด้วยขนม “บัวลอยหางกระรอก”

 



ผลิตภัณฑ์ชุมชน กั้งป่าโกงกางหรือกั้งก้ามป้อกแป๊ก ปลากระบอกให้ท่า หอยพอก ปูแสมดอง น้ำพริกกะปิคั่วและน้ำพริกเผาหอยนางรม กุ้งแห้ง ข้าวเกรียบหอยนางรม กล้วยฉาบและมันฉาบ กล้วยอบน้ำผึ้ง ผลไม้แช่อิ่ม ผักปลอดภัย น้ำสมุนไพร

 



ชมวิถีชีวิตเกษตรกรสวนผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนหลายสายพันธุ์ ลำใย มังคุด ฯลฯ ซึ่งวงจรชีวิตจะเริ่มจากเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะพักต้น และบำรุง เพื่อรอคอยการผลิดอก การเบ่งบาน และการแตกช่อ ก่อนเก็บเกี่ยวอีกครั้ง บ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ชมทิวทัศน์บ่อเลี้ยงปลากระพงขาว บ่อเลี้ยงปลาเก๋า บ่อเลี้ยงกุ้ง ฯลฯ ท่ามกลางทิวทัศน์ธรรมชาติ

 



ศาลพระเจ้าตากสิน เป็นที่สักการะขอพร และเป็นอนุสรณ์ให้ทุกคนรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ทรงกอบกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จ






    News


    “สมศักดิ์” ย้ำ ระบบยาที่มั่นคงช่วยเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจสุขภาพ ดันไทยสู่ Medical and Wellness Hub


    ไอคอนคราฟต์ ชวนรื่นเริงรับสงกรานต์กับแคมเปญ “The Art of Thai Celebration” เติมสีสันเทศกาลไทยด้วยสินค้าภายใต้แคมเปญ ICONCRAFT Co:Create พบกับคอลเลกชันพิเศษ ICONCRAFT x NAKROB MOONMANAS ตลอดเดือนเมษายน


    เอ็ม ดิสทริค ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน จัดงาน “ไทยหรรษา มหาสงกรานต์” ปักหมุดแลนมาร์กฉลองสงกรานต์สุดยิ่งใหญ่ใจกลางสุขุมวิท

    Travels


    SIAM FANTASY @ ASIATIQUE The world class cultural and martial art show


    Agent Trip อุทัยธานีเมืองน่าเที่ยว


    นั่งรถไฟ...ไปล่องแก่งหินเพิง

    Hotels


    The Oasis Spa Bangkok Sukhumvit 31


    Zantiis Ndol Villas MUAKLEK-KHAOYAI


    ที่พักเขาค้อ 3แบบ..3สไตล์

    Food&Drinks


    อันอัน เหลา อาหารจีนเบตงระดับตำนาน


    ห้องอาหารเปรมประชากร โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น


    Edo Japanese Restaurant บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพรีเมียม อิ่มจุกสะใจ!!


    Le Khwam Luck Cafe Bar & Restaurant


    ลีญอง เฟรนช์ ควิซีน อาหารฝรั่งเศสขนานแท้ในบรรยากาศอบอุ่น นั่งสบาย


    “Chyna by Tommy Tang” ร้านอาหารระดับ Global Cuisine โดย Tommy Tang สุดยอดเชฟเซเลบฯ ระดับตำนานของดาราฮอลลีวู้ด

    ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
    email : charoen70@gmail.com


    ออกแบบโดย touronthai