มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จัด Agent & Media Fam Trip ท่องเที่ยวชุมชนชาติพันธุ์ลุ่มน้ำป่าสัก @ สระบุรี

 มรภ.เทพสตรี  จัดกิจกรรม Agent & Media Fam Trip เชิญผู้ประกอบการท่องเที่ยวและสื่อมวลชนจากภาคีท่องเที่ยวไทย ร่วมเปิดเส้นทางท่องเที่ยว “ญ้อ ยวน ลาวเวียง”ชุมชนชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำป่าสักของจังหวัดสระบุรี ระหว่างวันที่ 21 – 23 เม.ย. 2566

จังหวัดสระบุรีมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งไทยวน ลาวเวียง ไทญ้อ ฯลฯ ที่อาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำป่าสัก และยังคงดำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนไว้เป็นอย่างดี ดร.วิลาศ เทพทา และ ดร.สยามล เทพทา และคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้จัดกิจกรรม Agent & Media Fam Trip ระหว่างวันที่ 21 -23 เมษายน 2566 ณ แหล่งท่องเที่ยวชุมชนชาติพันธุ์ลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดสระบุรี เป็นการทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนชาติพันธุ์ ตามโครงการวิจัย “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจากทุนทางวัฒนธรรมชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดสระบุรี ระยะที่ 2” ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของชุมชนชาติพันธุ์ลุ่มน้ำป่าสัก โดยมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนพื้นฐานอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรม

การจัด Fam Trip ครั้งนี้ ได้เชิญผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและสื่อมวลชน จากภาคีท่องเที่ยวไทย จำนวนกว่า 40 ท่าน เข้าร่วมกิจกรรม “ป่าสักสานสรรค์ ญ้อ ยวน ลาวเวียง ท่องเที่ยววิถีชุมชนลุ่มน้ำป่าสักสระบุรี” เพื่อร่วมสำรวจเส้นทางและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชาติพันธุ์ อาทิ ลานกางเต็นท์บ้านท่าฤทธิ์ อำเภอวังม่วง ชุมชนลาวเวียงบ้านชุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ชุมชนไทญ้อ อำเภอวังม่วง รวมทั้งชุมชนลาวเวียง และ ชุมชนไทยวน อำเภอเสาไห้ เป็นต้น Fam Trip นี้ได้นำคณะลงพื้นที่ร่วมสัมผัสวิถีชุมชน 3 วัน 2 คืน  

#ป่าสักสานสรรค์ #วช. #สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ #กระทรวง อว. #กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม #มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี #ท่องเที่ยวชุมชน #ท่องเที่ยวสระบุรี #ท่องเที่ยวชาติพันธุ์

 วันแรก เริ่มต้นในภาคเช้าด้วยการนำคณะภาคีท่องเที่ยวไทยสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการขนานนามว่า นิวซีแลนด์เมืองไทย ณ ลานกางเต๊นท์หมู่บ้านท่าฤทธิ์ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ชมวิวภูเขากับบรรยากาศลานกว้างริมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และถ่ายรูปกับฝูงแพะและให้อาหารน้องๆ ที่มารอต้อนรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ของฝากบ้านท่าฤทธิ์ เป็นผลิตภัณฑ์จักสานจากใบลาน ณ ศูนย์เสริมหัตกรรมชุมชนบ้านลานทอง ซึ่งได้นำใบลานที่มีอยู่ในชุมชน นำมาจักสานเป็นหมวกคาวบอย หมวกปีกกว้าง กระเป๋า ฯลฯ ติดต่อสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ นายเรืองฤทธิ์ ธาสถาน โทร 089-4122159

 กิจกรรมในภาคบ่าย นำคณะฯ เข้ารับประทานอาหารกลางวันและเยี่ยมชม สวนพุทธเกษตร ชุมชนลาวเวียงบ้านชุ้ง ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยมีชุมชนลาวเวียงบ้านชุ้งร่วมต้อนรับ ด้วยอาหารพื้นบ้าน ได้แก่ ต้มไก่บ้านใบมะขาม ปลาร้าสับ แกงต้มเปรอะหน่อไม้ ไข่เจียวผักหวาน และขนมปิ้งมะพร้าวอ่อน เป็นอาหารจากภูมิปัญญาชุมชน จากนั้นชม หอวัฒนธรรมลาวเวียง ฟังเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชุมชนชาติพันธุ์ลาวเวียง

 แล้วเปลี่ยนการเดินทางโดยรถท้องถิ่น ไปลอดใต้ ต้นมะขามปู่ มะขามย่า เป็นต้นมะขามใหญ่อายุกว่า 500 ปี หากได้มาลอดซุ้มรากมะขาม และขอพรและผูกผ้าขาวม้าที่รากขามปู่ ขามย่า ช่วยเสริมดวงบารมี เป็นที่รักใคร่ ติดต่อสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวบ้านชุ้ง ได้ที่ นายสมนึก แสนสวัสดิ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านชุ้ง โทร 088-0108838 จากนั้นเดินทางไปยัง วัดบ้านกอก สร้างขึ้นปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ชมความงามของสถาปัตยกรรมพระอุโบสถแบบมหาอุด ริมแม่น้ำป่าสัก

 ปิดท้ายเข้าเยี่ยมชม ตลาดริมท่าบ้านแก้ง ชมการแสดงรำวงและโขนของชุมชน ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดวัฒนธรรมชุมชนที่มีชาวบ้านนำสินค้า อาหารพื้นบ้าน และพืชผลทางการเกษตรที่ปลูกเอง นำมาจำหน่ายให้แก่คนในชุมชนและนักท่องเที่ยว สนใจสามารถไปท่องเที่ยวได้ในวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 11.00 – 20.00 น. ติดต่อสอบถามข้อมูลตลาดได้ที่ นางปรานี บุตกง อบต.บ้านแก้ง โทร 090-9944254

 จากนั้นรับประทานอาหารเย็น ณ ห้องทานตะวันโรงแรมศุภาลัยป่าสักสปาแอนด์รีสอร์ท โดยมีคณะมาต้อนรับภาคีท่องเที่ยวไทย ได้แก่ นายทนงยุทธ จันทกูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าคล้อ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี นายธนภัทร ช่อมะกอก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี และนายสฤษดิ์ จิตนอก ประธานชมรมการท่องเที่ยวแก่งคอย

 สำหรับกิจกรรมในวันที่สอง เริ่มต้นในภาคเช้าด้วยการเดินทางไปล่องเรือในแม่น้ำป่าสักธรรมชาติ โดยไปเปลี่ยนการเดินทางโดยแพและเรือหางยาว ณ วัดท่าสบก เพื่อไปชมผา ณ ถ้ำหมีเหนือ- เสือใต้ ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย ติดต่อสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ นายทนงยุทธ จันทกูล นายก อบต.ท่าคล้อ โทร 081-8521637, นางจันที สุทธิประภา อบต.ท่าคล้อ 086-1378575

 จากนั้นเดินทางไปยัง หอชาวนาโคกนาศัย ตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ รับประทานอาหารกลางวัน ด้วยเบนโตะลาวเวียง ขนมจีนน้ำยาปลาช่อน และส้มตำ กิจกรรมในภาคบ่าย คณะรับฟังวิถีการทำนาของชาวนาลาวเวียง ยุ้งข้าวแบบโบราณตามแบบการสร้างยุ้งของชาวลาวเวียง ภายในจัดแสดงอุปกรณ์การทำนาแบบดั้งเดิม และการแปรรูปข้าวพันธุ์เจ๊กเชยเสาไห้ จากนั้นร่วมกิจกรรม ภูมิปัญญาจักสาน ทำตาเหลวมงคล จากไม้ไผ่มาจักตอก ชาวนามักจะทำตาเหลวไปปักไว้ที่ริมทุ่งนา กิจกรรมทำตาเหลวนี้ เมื่อทำการสานแล้วนำมาประดับด้วยรวงข้าวที่เพิ่งออกรวง มีความเชื่อว่า ทำให้เกิดความเป็นศิริมงคลกับผู้นั้น เป็นของที่ระลึกแบบ DIY ที่ท่านได้ออกแบบสร้างสรรค์และลงมือทำด้วยตนเอง ติดต่อสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ นางวนิดา ศรีเม่น กำนันตำบลม่วงงาม โทร 085-5499197

 กิจกรรมยามเย็น ชม กาดย่ำค่ำ วัดไผ่ล้อม ชมศาลาการเปรียญโบราณ ซึ่งเคยเป็นที่ว่าการอำเภอเสาไห้แห่งแรก และเดินชมตลาดวัฒนธรรม ชิมอาหารพื้นบ้านริมแม่น้ำป่าสัก ติดต่อสอบถามข้อมูลตลาด ได้ที่ นางสมปอง ทิพย์คูนอก ผู้ใหญ่บ้านสวนดอกไม้ โทร 092-3805722

 ปิดท้ายรายการในภาคค่ำด้วยงานเลี้ยงอาหารพื้นบ้าน ณ ร้านต้อมแควป่าสัก และกิจกรรมที่สำคัญยามค่ำคืนนี้ คือ การเสวนาในหัวข้อ“ทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำป่าสักจังหวัดสระบุรี” โดย คุณมนตรี ปรีดา ปลัดอำเภออาวุโสอำเภอเสาไห้ เป็นผู้กล่าวต้อนรับคณะภาคีท่องเที่ยวไทย มีคณะผู้ร่วมเวทีเสวนา ได้แก่ คุณภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ ประธานชมรมภาคีท่องเที่ยวไทย คุณทองอยู่ สุภวิทยากรณ์ ภาคีท่องเที่ยวไทย นางนิตยา เมธีวุฒิกร รอง ผอ.ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา นายกสิเดช จารุเพ็ง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระบุรี นายวัชรพงษ์ สำเหนียกพันธุ์ นายกเทศมนตรีตำบลต้นตาล-พระยาทด โดยมี ดร.วิลาศ เทพทา หัวหน้าโครงการวิจัย เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา

 สำหรับกิจกรรมในวันที่สาม เริ่มต้นในภาคเช้าด้วยการเดินทางไปยัง วัดสมุหประดิษฐาราม พระอารามหลวง สักการะพระประธานศิลปะสุโขทัย ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวไทยวนในอดีต ทั้งการแต่งกาย วิถีชีวิต ตลอดจนประเพณีสำคัญของชาวไทยวน

 เดินทางต่อไปยัง ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล เป็นตลาดที่ก่อตั้งจากชุมชนมาจำหน่าย ที่จะมีผู้ค้าผู้ขายที่แต่งกายแบบไทยวน รวมไปถึงอาหารพื้นเมือง เช่น หมี่แจ๊ะ หรือ ผัดหมี่ไทยวนโบราณ ข้าวแคบ (ข้าวเกรียบ) ขนมกง แป้งจี่ ไข่ป่าม ขนมเพ่อเร่อ และสินค้าพื้นบ้าน อาทิ เสื้อผ้าพื้นเมือง ผ้าซิ่น และย่าม เครื่องจักสาน เป็นต้น โดยจะมีการเปิดตลาดทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 15.00 น. ในช่วงเวลา 12.00 น. จะมีเวทีการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองไทยวน ติดต่อสอบถามข้อมูลตลาด ได้ที่ นางกฤษณา พิทยาบุตร ผู้จัดการตลาด โทร 098-4474929

 จากนั้นเปลี่ยนการเดินทางโดยรถรางเพื่อเดินทางต่อ โยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นเบญจสุทธิคงคา 1 ใน 5 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของประเทศ ที่นำไปประกอบในพระราชพิธีสำคัญ เช่น น้ำสรงมุรธาภิเษก น้ำอภิเษก นำท่านสักการะพระสีวลี เพื่อความเป็นศิริมงคล พร้อมทั้งการสักการะท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเชิญท่านชมย่ามครูกฤษฏิ์ เป็นงานเย็บปักถักร้อยด้วยภูมิปัญญาชาวไทยวนเสาไห้ ติดต่อสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ นายกฤษฏิ์ ชัยศิลบุญ โทร 081-5611777

 ส่งท้ายรายการของทริปด้วยการชมพระอุโบสถมหาอุด ณ วัดพระยาทด เรื่องเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อดี เชื่อว่าจะแคล้วคลาด ปลอดภัย ภายในวัดมีสถานที่ให้ชมอีกหลายแห่ง ได้แก่ พระเจดีย์ไทยวน เป็นรูปแบบเจดีย์ที่แสดงถึงความศรัทธาต่อพระธาตุหริภุญชัย จึงได้จำลองรูปแบบมาสร้างไว้ รุกขมรดกยางนา เป็นต้นยางนาขนาดใหญ่ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในดงต้นยางนาของวัด  ใต้ร่มต้นยางนามีตลาดเล็กๆ ชุมชน คือ กาดฮิมต้าพระยาทด เสมือนโรงอาหารของเสาไห้ เปิดตลาดวันอังคาร - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 14.00 น. ติดต่อสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ นางสาวธัญยภรณ์  เสงี่ยม โทร 066-0568452

 การจัด  Fam Trip ครั้งนี้  นับเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อสำรวจเส้นทางและส่งเสริมการท่องเที่ยวชาติพันธุ์ ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมคิดและลงมือทำให้เกิดมูลค่าและคุณค่าเพิ่ม และเป็นการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวชุมชนในลุ่มน้ำป่าสักจังหวัดสระบุรีให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ฯ ได้ที่ ดร.สยามล เทพทา มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี  โทรศัพท์ติดต่อโดยตรง 099-1969296

ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี

ตำบลวังม่วงมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำการเกษตรพืชไร่ เช่น ปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด ปลูกทานตะวัน และมีพื้นที่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตก ติดกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง เป็นเขาบางส่วน ทำให้ภูมิประเทศของตำบลวังม่วงมีสภาพที่เอื้อต่อการทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆซึ่งเป็นวิถีชีวิตและทุนวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ทั้งทุนวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ที่หลายหลายและโดดเด่น ส่งเสริมให้ตำบลวังม่วงมีฐานทรัพยากรสำหรับการท่องเที่ยวที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ท้องถิ่น

1. ทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ เป็นทุนวัฒนธรรมของชุมชนต่างๆในพื้นที่ตำบลวังม่วงที่นำเสนอในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ หมู่บ้านท่าฤทธิ์

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: หมู่บ้านท่าฤทธิ์

ที่ตั้ง: หมู่ 1 ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

ชุมชนบ้านท่าฤทธิ์เป็นหมู่บ้านเก่าแก่เริ่มก่อตั้งเป็นหมู่บ้านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง มีที่ตั้งอยู่ติดริมเขื่อนป่าสักและอยู่กลางไร่สวนอันเขียวขจีสวยงาม สภาพพื้นที่เป็นเนินภูเขา บ้านเรือนชาวบ้านยังคงเป็นบ้านเรือนโบราณ มีภูมิทัศน์ดี เช่น ถนนชมวิวเขื่อนที่ทอดตัวยาวขนานไปกับเขื่อนป่าสักฯที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพและชมพระอาทิตย์ยามเย็น รวมถึงสามารถไปนมัสการพระพุทธรูปเก่าแก่ที่วัดท่าฤทธิ์ (หลวงพ่อศรี) และหลวงพ่อป่าใหญ่ชลสิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นในด้านการจักสานจากใบลาน ที่มีวัตถุดิบสำคัญในการจักสานคือ ลานพันธุ์ลานทอง ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในเขตพื้นที่บ้านท่าฤทธิ์ หมู่ที่ 1 ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี เมื่อประมาณ 40 ปีก่อนมีต้นลานเกิดขึ้นมากมาย ชนิดที่เรียกว่าเป็นป่าดงดิบ ป่าลานคนรุ่นเก่าเล่าให้ฟังว่าในสมัยนั้นการเดินทางโดยทางเกวียน ทางม้าเมื่อแหงนมองท้องฟ้า ปรากฏว่ามองไม่เห็นดวงตะวันเพราะมีป่าลานปกคลุมมืดทึบโดยตลอดมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมายหลายชนิด ต้นลานเป็นพืชในตระกูลปาล์ม มักจะขึ้นในที่อากาศชื้นและฝนตกมาก ต้นลานมีอายุราว 20-80 ปี เมื่อต้นลานอายุประมาณ 25 ปี ลำต้นจะมีความสูงถึง 25 เมตร ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ต้นลานจะออกดอกออกผล ซึ่งหมายถึงชีวิตช่วงสุดท้ายของต้นลาน ผลลาน หรือ ลูกลาน เนื้อจะคล้ายกับลูกชิดหรือลูกจาก รสชาติจืดและมีความหนึบ ชุมชนท่าฤทธิ์ได้นำลูกลานมาแปรรูปเป็นลูกลานเชื่อม ลูกลานลอยแก้ว และนำมาทำเป็นเมนูเครื่องดื่มต้อนรับ เช่น กาแฟอเมริกาโน่ลูกลาน และชาลูกลาน

ปัจจุบันพบต้นลานได้ที่เขตบ้านท่าฤทธิ์ซึ่งมีจำนวนคงเหลืออยู่ไม่มากแล้ว จึงทำให้เกิดโครงการอนุรักษ์พืชพื้นเมืองเพาะพันธุ์ต้นลานพื้นที่ตำบลวังม่วงขึ้นเป็นกิจกรรมต่อเนื่องโดยการนำพันธุกรรมทางทรัพยากรชีวภาพต่างๆ ไปเพาะพันธุ์ ปลูกเลี้ยง และขยายพันธุ์เพิ่มในพื้นที่ปลอดภัย เช่น ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสวนพฤกษศาสตร์ของโรงเรียนในเขตพื้นที่ตำบลวังม่วง

2. ทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หมู่บ้านท่าฤทธิ์มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ ได้แก่ งานหัตถกรรมจักสานใบลาน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

งานหัตถกรรมจักสานใบลาน

ศูนย์ส่งเสริมหัตถกรรมบ้านท่าฤทธิ์ที่เริ่มต้นโดยคุณบานเย็น สอนดี ที่จัดตั้งกลุ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบใบลานที่มีอยู่ในพื้นที่ คือใบลานพันธุ์ลานทอง ซึ่งมีความเหนียวนุ่มคงทนสามารถจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างสวยงาม อีกทั้งสามารถย้อมสีได้หลากหลายตามที่ต้องการ คุณบานเย็นด้วยการประดิษฐ์หมวกคาวบอยจากใบลานและเริ่มจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2530 มีการออกแบบเป็นลวดลายต่างๆ เช่น มีลายทึบ ลายฉลุ ลายดอกพิกุล และลายข้าวหลามตัด ซึ่งในปัจจุบันหมวกคาวบอยใบลานเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีน้ำหนักเบาไม่ทำให้หนักศีรษะเวลาสวมใส่ และยังออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์จักสานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หมวกกอล์ฟ พวงกุญแจ ตะกร้า กระเช้าผลไม้ กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย ซองสมุด กล่องตลับ แจกัน กล่องกระดาษชำระ และโคมไฟ

ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

1. ทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ เป็นทุนวัฒนธรรมของชุมชนต่างๆในพื้นที่ตำบลท่าคล้อ ที่นำเสนอในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: ถ้ำหมีเหนือ – เสือใต้ หรือผาหมี         

ที่ตั้ง: หมู่ 2 บ้านท่าสบก ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

ถ้ำหมีเหนือ – เสือใต้ หรือผาหมี อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 5 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี  ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับตำบลหินซ้อน ภายในเป็นถ้ำและมีสระน้ำขนาดใหญ่ การเดินทางไปที่ถ้ำแห่งนี้อาศัยทางน้ำเพียงเส้นทางเดียว การคมนาคมด้านอื่นไม่สะดวกนัก

ถ้ำหมีเหนือ – เสือใต้แห่งนี้เป็นถ้ำที่น่ามหัศจรรย์คืออยู่ติดกับแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของชาวจังหวัดสระบุรี  แม่น้ำสายนี้มีต้นกำเนิดจากจังหวัดเพชรบูรณ์ไหลผ่านจังหวัดสระบุรีและไปสิ้นสุดที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งราษฎรที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ ทางด้านเกษตรกรรม คมนาคมขนส่งและบริโภค และในปัจจุบันยังใช้ในด้านอุตสาหกรรมและท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งถ้ำหมีเหนือ – เสือใต้  ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวใช้เข้าชมความงดงามของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ และชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำตลอดระยะทาง รวมทั้งวิถีชีวิตชาวบ้านชนบทที่ทำกิจกรรมในยามเย็น เกษตรกรรมริมน้ำ การจับปลา ถ้ำหมีเหนือ – เสือใต้ เป็นถ้ำและผาหินปูนเกิดจากหินงอกออกจากตัวผนังภูเขาเป็นรูปคล้ายหมีขนาดใหญ่สีดำคาดขาว ลักษณะคล้ายกระโจนลงน้ำ ซึ่งตัวหมีดังกล่าวอยู่ทางด้านทิศเหนือของแม่น้ำป่าสัก จึงได้ฉายาว่า “หมีเหนือ” และถัดจากตัวหมีลงมาทางใต้ จะมองเห็นผามีลายขวางสีเหลืองสลับแดงปนส้มคล้ายลายเสือโคร่ง  หรือลายพาดกลอนจึงได้รับฉายาว่า “เสือใต้”

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: โบราณสถานเขาคอก  

ที่ตั้ง: หมู่ 3 บ้านท่าคล้อกลาง ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีกงสุลต่างชาติเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในสมัยเมื่อไทยกับฝรั่งยังไม่สู้คุ้นกัน ถ้าเกิดโต้เถียงกันพวกกงสุลต่างชาติมักขู่ว่าจะเรียกเรือรบเข้ามากรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริตั้งเมืองลพบุรีเป็นราชธานีสำรองเหมือนอย่างสมเด็จพระนารายณ์ แต่มีความเห็นอีกฝ่ายหนึ่งว่าควรตั้งที่เมืองนครราชสีมา จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปตรวจ แต่ทรงเห็นว่าเมืองนครราชสีมากันดารน้ำนัก  พระองค์โปรดที่เขาคอก ในแขวงเมืองสระบุรีจึงคิดทำที่มั่นที่เขาคอก สำหรับพวกพระบวรราชวังเป็นเหตุให้สร้างที่ประทับ ณ ตำบลสีทา (ปัจจุบันตำบลสองคอน) ริมแม่น้ำป่าสักใกล้กับเขาคอก (ตำบลท่าคล้อ) ตั้งแต่นั้นมา ส่วนเขาคอก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เป็นที่เลี้ยงช้างเลี้ยงม้า เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบเหมือนคอกธรรมชาติ  โดยมีหลวงยกกระบัตรโนรี นายอำเภอท่านแรกของอำเภอแก่งคอย ซึ่งเป็นเชื้อสายลาวเวียงจันทน์ เป็นผู้สร้างกำแพงเขาคอก เพื่อมิให้ช้างและม้าหนีออกจากคอกได้ ปัจจุบันยังมีหลักฐานกำแพงเขาคอกตั้งอยู่ หมู่ที่ 3 ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นสมบัติโบราณสถานแห่งเดียวของตำบลท่าคล้อ

            2. ทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้แก่ ประเพณีล่องแพไฟ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประเพณีล่องแพไฟ

ประเพณีล่องแพไฟถือว่าเป็นประเพณีของชาวบ้านหาดสองแควมีมาแต่โบราณ ประมาณปี พ.ศ. ใด ไม่ปรากฏเป็นหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่า เริ่มมีประเพณีล่องแพไฟมา เมื่อตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมาประมาณ 200 กว่าปีแล้ว และได้สืบทอดกันมาทุกรุ่น ตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงลูกหลานในปัจจุบันนี้ งานประเพณีล่องแพไฟ จะมีพิธีหลังจากออกพรรษาแล้วของทุกๆ ปี ซึ่งเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งทางพระพุทธศาสนา ที่ชาวบ้านหาดสองแคว และบ้านใกล้เคียง ได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา สันนิษฐานว่า ชาวบ้านหาดสองแคว ซึ่งได้อพยพมาจากเวียงจันทน์ และภาคอีสาน เรียกชาวบ้านที่อพยพมานี้ เป็นภาษาพื้นบ้านว่า ไทญ้อ และได้นําประเพณีนี้มาปฏิบัติ ตั้งแต่สร้างวัดหาดสองแคว งานประเพณีล่องแพไฟ จะปฏิบัติกันหลังวันออกพรรษาของทุกปี คนเฒ่าคนแก่ ผู้อาวุโสของชุมชน จะพาชาวบ้านทำแพด้วยไม้ไผ่ กาบกล้วย ต้นกล้วย นําอาหารหวานคาว ผลไม้ต่างๆ มาใส่ลงไปในแพเสร็จแล้วนําไปลอยในแม่น้ำป่าสัก ส่วนแพไฟนั้น ไม่ได้กำหนดเป็นรูปแบบ ในอดีตให้หมายถึงเรือที่ทำด้วยต้นกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุอื่นๆ ที่สามารถลอยน้ำได้ มีโครงสร้างเป็นรูปต่างๆ ตามต้องการ เมื่อมีการจุดไฟก็จะปรากฏเปลวไฟลุก เป็นรูปร่างตามโครงสร้างนั้นๆ ต่อมาในปัจจุบัน ได้พัฒนาตามภูมิปัญญาชาวบ้าน จัดทำเป็นรูปทรงไทย ประดับประดาไปด้วยดอกไม้ และตะเกียงไฟ จัดให้มีการแห่รอบหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ตามถนนต่าง ๆ เพื่อเป็นการเผยแผ่ประเพณีของชาวบ้านหาดสองแคว ประเพณีล่องแพไฟ เป็นพิธีกรรมตามคตินิยม หรือความเชื่อถือของชุมชนไทญ้อ

จุดประสงค์ของประเพณีล่องแพ เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อขอบคุณแม่น้ำที่อํานวยประโยชน์ต่างๆ ให้แก่มนุษย์ชาติ เพื่อขอขมาต่อพระแม่น้ำคงคาที่ทำสิ่งสกปรกหรือล่วงเกิน เพื่อลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ เพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตนเซ่นแม่คงคา ผีบ้าน ผีเรือน ประเพณีล่องแพไฟเป็นความภาคภูมิใจ ของชาวบ้านหาดสองแควที่ได้สืบทอดจากบรรพบุรุษ ได้ยึดถือปฏิบัติกันมานานมากกว่า 200 กว่าปี

ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวตำบลบ้านแก้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

ตำบลบ้านแก้ง ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี พื้นที่ส่วนมากเป็นที่ราบเชิงเขา มีถนนอดิเรกสารเป็นทางหลวงชนบท ผ่านกลางตำบล มีแหล่งน้าที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก และมีลำน้า นอกจากนี้ยังมีบึงบ้านโง้ง ซึ่งเป็นหนองน้ำสาธารณะ ขนาดค่อนข้างใหญ่ ประชากรส่วนมากมีอาชีพเป็นเกษตรกรทำไร่ทำนา

1. ทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ เป็นทุนวัฒนธรรมของชุมชนต่างๆในพื้นที่ตำบลบ้านแก้งที่นำเสนอในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ ชุมชนบ้านชุ้ง วัดบ้านกอก รวมถึงทุนวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับความเชื่อและความศรัทธาของคนในพื้นที่ ดังนี้

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: ชุมชนบ้านชุ้ง   

ที่ตั้ง: หมู่ 1 ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

บ้านชุ้ง เมื่อสมัยก่อนเรียกว่า บ้านโซ่ง เป็นภาษาอีสาน คำว่า โซ่ง แปลว่า หมู่บ้านที่เป็นเกาะหรือมีแม่น้ำล้อมรอบ มีทางออกได้เพียงทางเดียวและต่อมาเพื่อให้เรียกเป็นภาษาไทยจึงเรียกว่า บ้านชุ้ง เป็นที่ติดปากนับจากนั้นมา บ้านชุ้ง มีทางเข้า-ออก หมู่บ้านแค่เพียงทางเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นผู้อาศัยดั้งเดิมที่คุ้นเคยกัน ความเป็นอยู่อาศัยระบบพึ่งพาและเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันสภาพพื้นที่บ้านชุ้ง หมู่ที่ 1 มีลักษณะเป็นที่ราบสูง - ต่ำ มีแม่น้ำลำคลองล้อมรอบ ส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกร เช่น ทำไร่ข้าวโพด ปลูกพืชสวนครัว และรับจ้างจากโรงงาน ในชุมชนมีฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายในหมู่บ้านมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้การดำรงชีพจากหลักเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังมีหอวัฒนธรรมบ้านชุ้ง เป็นแหล่งสำหรับเรียนรู้ความเป็นมาของวัฒนธรรมชาวบ้านชุ้งผ่านวัตถุโบราณต่างๆ ชุมชนร่วมกันรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ให้ความเคารพและมีสำนึกรักบ้านเกิด จนได้มีชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนบ้านชุ้งมีคำขวัญที่ว่า “แดนพุทธเกษตร อุ้มพระดำน้ำ ต้นมะขามโบราณ เพลินเนินสวาท เที่ยวหาดสวรรค์ เขตเมืองลาวเวียง”

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: ต้นมะขามปู่ มะขามย่า  

ที่ตั้ง: หมู่ 1 ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

บ้านชุ้งมีต้นมะขามปู่ มะขามย่า อายุกว่า 500 ปี ลำต้นใหญ่ รากจำนวนมากอยู่พ้นจากพื้นดิน มีลำต้นสูงใหญ่ จะมีการผูกผ้าขาวม้ากับต้นมะขามปู่ มะขามย่า มีความเชื่อโดยใช้ไม้มะขามทำพิธีในงานพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และมีการลอดต้นมะขามปู่ มะขามย่าเพื่อขอพรตามที่ตนเองปรารถนา เมื่อสมหวังก็จะนำผ้าขาวม้ามาผูกเพื่อเป็นการแสดงความเคารพบูชา กิจกรรมขอพรปู่ขามย่าขามและเที่ยวเกาะหาดทรายกลางน้ำบ้านชุ้ง หมู่ที่ 1 ลอดรากมะขามอายุกว่า 500 ปี เพื่อความเป็นศิริมงคลในชีวิตเพื่อสะเดาะเคราะห์กรรม เสริมดวงบารมี ชาวบ้านชุ้งเชื่อว่า หากผู้ใดผูกผ้าขาวม้าและลอดราก ต้นปู่ขามจะทำให้ผู้คนมีความเกรงขามและอายุยืนนาน สุขภาพแข็งแรงโรคภัยไม่เบียดเบียน

ผู้ที่ได้บูชาโยนีย่าขามนี้มีความเชื่อกันว่าจะได้แรงด้านมหาเสน่ห์เมตตามหานิยม เป็นเสน่ห์ต้องตาต้องใจแก่ชายหญิง หากเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ ก็จะทำให้เกิดความเมตตาเอ็นดูสงสาร

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: หอวัฒนธรรมลาวเวียง  

ที่ตั้ง: หมู่ 1 ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

เป็นสถานที่ที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ และเรื่องราวประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงของชุมชน ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

ที่ตั้ง: หมู่ 1 ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

ศูนย์การเรียนรู้ และจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบ่งไปตามคุ้มต่าง ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในวิถีการเกษตร เช่น คุ้มไก่ไผ่ผักหวาน มีฐานการเรียนรู้เรื่องการปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ การปลูกไผ่ลืมแล้ง คุ้มพอเพียง มีฐานการเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์หมักแห้ง เป็นต้น แม้วิถีการเกษตรของสังคมปัจจุบันจะเปลี่ยนไป เพราะมีการพึ่งพาสารเคมี แต่ชาวลาวเวียงที่บ้านชุ้ง ยังคงความดั้งเดิม และปฏิบัติสืบทอดกันมาไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือการไม่พึ่งพาสารเคมี พืชผักที่ได้จึงปลอดสาร แม้ว่าเกษตรกรรมหลักจากเดิมที่ชุมชนเคยทำนาต่อมาเปลี่ยนมาทำไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย และมีการใช้สารเคมีบ้าง แต่การปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคในครัวเรือน ยังไม่เปลี่ยนไป เพราะชุมชนได้รับการปลูกฝังจากบรรพบุรุษมาตลอดว่าต้องปลูกเอง สร้างแหล่งอาหารด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้อาหารที่ดี และปลอดภัย โดยในทุกครัวเรือนจะปลูกผัก 5 ชนิดหลักไว้เพื่อการบริโภค ได้แก่ พริก มะเขือ โหระพา ข่า ตะไคร้ เพราะเป็นวัตถุดิบที่ต้องใช้บริโภคเป็นประจำ แต่ความจริงแล้วทุกครัวเรือนปลูกพืชผักเกิน 10 ชนิด ผลผลิตที่ได้จะเป็นการไว้บริโภคในครัวเรือนเป็นลำดับแรก นอกจากนั้นก็แบ่งปันแลกเปลี่ยนกันในชุมชน และนำไปขายบางส่วน

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: วัดบ้านกอก      

ที่ตั้ง: หมู่ 6 ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

วัดบ้านกอกสร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏ พระอุโบสถวัดบ้านกอกมีรูปแบบเป็นอาคารแบบไทยประเพณีที่สร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก มีลักษณะแคบและสูงชะลูด ทำเสาติดผนัง มีบัวหัวเสา มีลักษณะกลีบบัวยาวคล้ายใบดาบ เรียกว่า บัวแวง ทางเข้าภายในพระอุโบสถมี 3 ทาง คือ ด้านหน้า และด้านข้างทั้งสองข้าง

รูปแบบน่าจะรับอิทธิพลอาคารสิมลาวทั้งในอีสานและลาวล้านช้าง คือ การทำทางเข้าด้านหน้า พบว่า มีความแตกต่างจากแบบแผนทั่วไปของพระอุโบสถในกรุงเทพฯ มักจะทำทางเข้าด้านหน้าทั้งสองข้าง ดังนั้นการทำทางเข้าด้านหน้าสันนิษฐานว่าน่าจะรับแรงบันดาลใจมาจากรูปแบบอาคารสิมศิลปะลาว สำหรับหน้าบัน 2 ชั้นประดับด้วยลายแผง การประดับตกแต่งหน้าบัน ทำเป็นลายดอกไม้อยู่ในกรอบแผงมีประดับกระจกสี ลวดลายปูนปั้นเป็นภาพเมขลาและรามสูร และเหล่าเทวดาเหาะ ด้านซ้ายมีพระจันทร์เป็นรูปกระต่ายในวงกลม ส่วนด้านขวามีพระอาทิตย์ เป็นภาพนกยูงอยู่ในวงกลม สื่อถึงคติไตรภูมิโลกสัณฐาน รูปแบบนี้เป็นวัดแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3

พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ เป็นงานปูนปั้นปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ มีพระพักตร์เล็ก พระขนงโก่ง พระนาสิกเล็กและโด่ง น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธรูปล้านช้าง อย่างไรก็ตามรูปแบบ พระประธานวัดบ้านกอก น่าจะเป็นฝีมือช่างลาวท้องถิ่น สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้ว

งานจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ มีข้อจำกัด เนื่องจากประวัติไม่ทราบสร้างขึ้นเมื่อไร และสภาพจิตรกรรมเสียหายอย่างมาก และผนังด้านสกัดหลังพระประธาน พบว่า ระบุไว้การซ่อมครั้งใหญ่ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2484 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 อย่างไรก็ตาม งานจิตรกรรมอุโบสถวัดบ้านกอกเป็นแบบแผนไทยประเพณี สมัยรัชกาลที่ 3-4 โดยปรากฏภาพ ดังนี้ ภาพเทพชุมนุม พระเจดีย์ และเรื่องเวสสันดรชาดก ทั้ง 13 กัณฑ์ พบความนิยมในท้องถิ่นของกลุ่มคนลาว ที่มีการเทศน์มหาชาติและประเพณีบุญพระเวสในงานบุญมหาชาติ นอกจากนี้ยังมีภาพหญิงชาวบ้านแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาวมีการห่มสไบทับ พบว่าหน้าตาเป็นแบบพื้นบ้าน ไม่ได้ลงรายละเอียด มีเพียงเฉพาะลายเส้น ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่าจิตรกรรมฝาผนังในสิมวัดบ้านกอก น่าจะมีการเขียนซ่อมในสมัยช่วงปลายพุทธศตรวรรษที่ 25 ตรงกับช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 น่าจะเป็นฝีมือของคนลาวที่เป็นช่างท้องถิ่น                   

            2. ทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้แก่ พิธีอุ้มพระดำน้ำ ประเพณีลอดรากมะขาม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

พิธีอุ้มพระดำน้ำ

พิธีอุ้มพระดำน้ำเป็นประเพณีประจำปีคือ การอุ้มพระดำน้ำ ช่วงวันที่ 13 – 14 ในเดือนเมษายนของทุกปี หรือช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยชาวบ้านจะอัญเชิญพระแก่นจันทน์ พระพุทธรูปที่แกะมาจากไม้จันทน์หอมลงมาประกอบพิธีสรงน้ำ หรืออุ้มพระดำน้ำ ที่แม่น้ำป่าสักซึ่งเป็นสายน้ำที่อยู่คู่กับชุมชนมายาวนาน พระพุทธแก่นจันทน์เป็นพระที่แกะจากแก่นไม้ต้นจันทน์ สร้างโดยใครไม่ปรากฏการสร้างและปีที่สร้าง เดิมเคยประดิษฐานที่วัดบ้านโซ้ง ซึ่งเป็นวัดที่ติดกับแม่น้ำ ต่อมาวัดได้ร้างไม่มีพระสงฆ์จำวัดคงปล่อยพระพุทธรูปทิ้งไว้ที่วัดร้างบ้านโซ้งเป็นระยะเวลายาวนาน ต่อมาพระพุทธรูปไม้ทั้งหมดก็ถูกเคลื่อนย้ายใส่เรือข้ามแม่น้ำไปไว้ที่วัดที่ตั้งตรงข้ามแม่น้ำคือ วัดตลิ่งชัน พระพุทธแก่นจันทน์มีสภาพผุพังมาก ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่วัดตลิ่งชันเป็นเวลานาน ต่อมาได้ทำการบูรณะพระที่ผุพังให้มีสภาพดีขึ้นดังเดิม นายเจษฎา อัศวประพล และครอบครัว ต่อมาชาวบ้านชุ้งจัดประเพณีงานสงกรานต์จึงได้ไปอัญเชิญพระพุทธแก่นจันทน์กลับหมู่บ้านในรอบเกือบร้อยปีเพื่อความเป็นศิริมงคล และจัดพิธีอุ้มพระพุทธแก่นจันทน์ลงดำน้ำ เพื่อรำลึกถึงการเดินทางข้ามแม่น้ำจากหมู่บ้านไปและขอพรให้ชาวบ้านทุกคนมีความสุขความเจริญตลอดจนเพื่อการบูชาแม่น้ำป่าสักที่ล้อมรอบหมู่บ้านซึ่งเป็นบ้านเกาะกลางน้ำที่ให้ความอุดมสมบูรณ์ร่มเย็นเป็นสุขแก่ทุกคนและผู้ที่เดินทางมาที่หมู่บ้านชุ้งให้มีแต่ความโชคดีตลอดไป

ประเพณีลอดรากมะขาม

ประเพณีประจำปีอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือประเพณี “ลอดรากมะขาม” ในป่าใกล้ริมน้ำป่าสักของชุมชนบ้านชุ้ง มีต้นมะขามใหญ่อายุกว่า 500 ปียืนต้นตระหง่านอยู่คู่กันสองต้น ชาวบ้านเรียกว่าต้นมะขามปู่ – มะขามย่า รากของต้นมะขามทั้งสองต้นแทงโผล่พ้นคันดินออกมา โดยบริเวณโคนต้นมะขามปู่ปรากฎรากมะขามโผล่ออกมาในลักษณะซุ้มประตูเล็ก ๆ จากความใหญ่โตของลำต้น เมื่อเสร็จสิ้นพิธีอุ้มพระดำน้ำแล้วชาวบ้านมักจะมาทำการไหว้สักการะและเดินลอดซุ้มรากมะขามนี้เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หลังจากนั้นในช่วงออกพรรษาจะมีอีกประเพณีหนึ่งคือการผูกผ้าขาวม้ารอบต้นมะขามปู่ – มะขามย่าเพื่อระลึกถึงเทพาอารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติที่บันดาลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขในชุมชน

อาหารลาวเวียงบ้านชุ้ง

อาหารพื้นถิ่นที่สำคัญของชุมชนลาวเวียงบ้านชุ้ง ได้แก่ แกงหน่อไม้ ส้มตำ ซุปขนุน น้ำพริกปลาร้า ต้มไก่บ้านใบมะขาม ปลาร้าสับ แกงต้มเปรอะหน่อไม้ ซุปหน่อไม้ สาโท น้ำฝาง เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการใช้ทรัพยากรอาหารตามธรรมชาติ และพืชพื้นบ้าน อันเนื่องมาจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำ ทำให้ชุมชนปลูกพืชผักพื้นบ้านได้หลากหลายชนิดสำหรับทำเป็นอาหารการกินในชีวิตประจำวัน และเป็นเมนูสำคัญสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย

ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวตำบลต้นตาล-พระยาทด อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ซึ่งคำว่า ไทยวน นั้นมีที่มาจากชนชาวไทยกลุ่มหนึ่งนำโดยพระเจ้าสิงหนวัติกุมาร อพยพผู้คนมาสร้างเมืองในลุ่มแม่น้ำกก (เชื่อกันว่าอยู่บริเวณ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน) เรียกกันว่า เวียงโยนกนาคพันธุ์ และเรียกชาวเมืองนี้ว่า โยนก แล้วเพี้ยนเป็นชาวโยนหรือไทยวนในที่สุด การอพยพโยกย้ายของชาวยวนครั้งใหญ่ เกิดขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ในพ.ศ.2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ และพระยายมราชยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนแล้วกวาดต้อนผู้คนมาอยู่ที่เชียงใหม่ ลำปาง น่าน เวียงจันทร์ ราชบุรี และสระบุรี ในสมัยนั้น ตัวเมืองสระบุรีตั้งอยู่ที่อำเภอเสาไห้ และชาวยวนเหล่านั้นได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำป่าสักขึ้นมาทางตะวันออก และย้ายถิ่นฐานไปทั่วทุกตำบลในอำเภอเสาไห้ แม้กาลเวลาที่ล่วงเลยกว่า 200 ปี จะส่งผลให้ชาวไทยวนสระบุรี มีวิถีชีวิตกลมกลืนไปกับชาวไทยภาคกลางทั่วไป แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังคงสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอีกหลายอย่างจวบจนปัจจุบัน

ในระยะที่ผ่านมาประมาณ 50-60 ปี ชาวไทยวนได้มีความตื่นตัวทางด้านชาติพันธุ์ใหม่ในหมู่บ้านไทยวน มากขึ้น ดังมีการจัดตั้งชมรมไทยวนสระบุรี เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ชาวไท ยวน มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สูญหายไปตามกาลเวลา เช่น การทอผ้าพื้นเมือง ได้มีการจัดตั้งศูนย์ทอผ้า ซึ่งมีศึกษาและเรียนรู้การทอผ้าลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยวน และคิดค้นลวดลายใหม่ ๆ แต่ยังคงเอกลักษณ์เดิมอยู่ เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ และการพัฒนาสินค้า รวมทั้งฟื้นฟูประเพณีทำบุญสลากภัต การรำโทน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการรวบรวมขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวไท-ยวนอย่างมีคุณค่า แม้ว่ากาลเวลาผ่านเลยมากกว่าสองร้อยปี แต่ไม่อาจลบเลือนร่องรอยความงดงามแห่งวิถีชีวิตของคนถิ่นนี้ที่ยึดปฏิบัติกันมาอย่างเหนียวแน่นของคนต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ขุมทรัพย์แห่งลุ่มน้ำป่าสักที่พร้อมจะมอบไมตรีจิตแก่ผู้มาเยือนด้วยรากฐานศิลปวัฒนธรรมถิ่นเดิมแบบไทยโยนกหรือไท-ยวน ที่พักแบบ Home stay รับประทานอาหารท้องถิ่น “กิ๋นข้าวแลงขันโตก” ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากกลุ่มเยาวชน ผู้สืบทอดความเป็นวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำป่าสักที่มีชื่อเสียงและเลือกชมสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

1. ทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ เป็นทุนวัฒนธรรมของชุมชนต่างๆในพื้นที่ตำบลต้นตาล และตำบลพระยาทดที่นำเสนอในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ ชุมชนไทยวน บ้านต้นตาล ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล โยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์ผ้าทอบ้านต้นตาล วัดพระยาทด กาดฮิมต้าพระยาทด และ    รุกขมรดกยางนา ล้วนแต่เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ของอำเภอเสาไห้ ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางความเชื่อของผู้คนตั้งแต่ในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: ชุมชนไทยวน บ้านต้นตาล       

ที่ตั้ง: หมู่ 1-5, หมู่ 7-8 ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

บ้านต้นตาลเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และอยู่ห่างจากตัวอำเภอเสาไห้เป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ตำบลต้นตาลนับได้ว่าเป็นที่ตั้งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การอพยพของชาวยวนที่ได้อพยพจากเมืองเชียงแสนราว 200 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นเชียงแสนทมีสถานะเป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรล้านนา ด้านสาเหตุของการศึกสงครามกับพม่า กอปรกับการขยายพระราชอำนาจในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงโปรดเกล้าให้พระเจ้าหลานเธอกรมหลวงเทพหริรักษ์ และพระยายมราช ยกทัพร่วมกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทร์ เจ้าอุปราชเชียงใหม่ เจ้านครน่าน และเจ้านครลำปาง เข้าล้อมตีเมืองเชียงแสนคืนจากพม่าและเมื่อสามารถตีเมืองได้แล้ว จึงเผาทำลายป้อมปราการเมือง กำแพงเมือง และบ้านเมือง เพื่อไม่ให้เป็นที่มั่นแก่ข้าศึกพม่าในคราต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากเชียงแสนเป็นเสมือนจุดยุทธศาสตร์ที่อยู่เหนือสุดของสยาม ส่งผลให้กองทัพสยามไม่มีกำลังพลพอที่จะป้องกันเมืองได้อีกต่อไป จึงได้อพยพผู้คนชาวเมืองราว 23,000 คน เพื่อตัดกำลัง และนำมาเป็นแรงงานในการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ที่กรุงเทพมหานครสมัยนั้น ซึ่งคนที่ถูกอพยพถูกจัดแบ่งออกเป็น 5 ส่วน โดยแยกอพยพไปไว้ที่นครเวียงจันทน์ 1 ส่วน เมืองเชียงใหม่ 1 ส่วน เมืองลำปาง 1 ส่วน และเมืองน่านอีก 1 ส่วน นอกนั้นที่เหลือถูกเกณฑ์มาสร้างพระนคร ซึ่งชาวยวนบางส่วนได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ราชบุรี และที่ราบลุ่ม แม่น้ำป่าสัก ในแถบจังหวัดสระบุรี เนื่องจากวิถีชีวิตของคนยวนมกั มีความผูกพันกับแม่น้ำคล้ายกับลักษณะของการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในภาคเหนือมักจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายหลักๆ ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน เป็นต้น

สำหรับคนยวนสระบุรี ระยะแรกได้ตั้งรกรากถิ่นฐาน สร้างบ้านเรือนอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสักแถบพื้นที่อำเภอเสาไห้และอำเภอเมืองในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อมีการขยายตัวของประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงขยายพื้นที่ตั้งถิ่นฐานไปยังอำเภอต่างๆ ของจังหวัดสระบุรี นอกจากนั้นยังมีการย้ายถิ่นฐานอพยพครอบครัวไปยังจังหวัดใกล้เคียง อาทิ เช่น จังหวัดนครราชสีมา ลพบุรี สระแก้ว เพชรบูรณ์ พิจิตร และนครสวรรค์ เป็นต้น

วิถีชีวิตของคนยวนบ้านต้นตาล แรกเริ่มอาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสักใช้ชีวิตแบบเกษตรกรรมแบบยังชีพ โดยได้ธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อาทิเช่น การแต่งกาย ภาษาพูด พิธีกรรมและการแสดง รวมถึงวัฒนธรรมอาหารการกิน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการพัฒนาการคมนาคมขนส่งจากทางน้ำ มาเป็นทางบก ส่งผลให้เมืองสระบุรีกลายเป็นเมืองผ่านไปยังมณฑลต่างๆ ในเขตอีสาน และมณฑลพายัพ โดยเฉพาะการเป็นทางผ่านของรถไฟสายกรุงเทพฯ -นครราชสีมา ซึ่งได้เปิดเส้นทางดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนยวนสระบุรีได้มีการรับเอาวัฒนธรรมส่วนกลางเข้าไปมีบทบาทปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปประกอบกับการเป็นกลุ่มวัฒนธรรมพลัดถิ่นของชาวไทยวนที่อพยพจากอาณาจักรโยนกนคร หรือเชียงแสนและมาตั้งรกรากอยู่แถบที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสักส่งผลให้การดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมตั้งแต่เชียงแสนถูกกลืนกลายจากกระแสความทันสมัย (Modernization) ของส่วนกลาง นอกจากนั้นกระแสชาตินิยมความเป็นไทยก็นับได้ว่าเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ความเป็นไทยวนในพื้นที่ชุมชนบ้านต้นตาล

ชาวไทยวนมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมทั้งในเรื่องของภาษาพูดที่ใช้ภาษายวนหรือภาษาคำเมืองเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบยวนหรือตามแบบฉบับของคนล้านนา อาหารการกิน ศิลปะการละเล่น รวมทั้งความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เช่น งานบุญสลากภัต เป็นต้น ซึ่งแตกต่างไปจากชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ ในแถบภาคกลางจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของชุมชนที่มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่านพื้นที่ของหมู่บ้านและการมีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างแตกจากที่อื่นๆ จึงเป็นทุนที่เอื้อต่อการจัดการท่องเที่ยวขึ้นในชุมชนต้นตาลเมื่อบริบทของสังคมรอบข้างเกิดการให้ความสำคัญและสนใจกับความแตกต่าง หลากหลายทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวขึ้นมาประกอบการท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนชุมชน ชาวยวน บ้านต้นตาลจึงนำทรัพยากรธรรมชาติและทุนทางวัฒนธรรมที่ตนมีอยู่เหล่านี้มาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูด ความสนใจจากนักท่องเที่ยว ซึ่งจุดเด่นของการท่องเที่ยวบ้านต้นตาลอยู่ที่การชมวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวยวนและการล่องเรือชมธรรมชาติบริเวณสองฝั่งของแม่น้ำป่าสัก

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล

ที่ตั้ง: ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

ตลาดต้าน้ำ เป็นภาษาล้านนา ในภาษาภาคกลางคือ ตลาดท่าน้ำ  ซึ่งคำว่า “ต้า” หมายถึง “ท่า” ในภาษาไทยภาคกลาง ตลาดท่าน้ำมีความแตกต่างจากตลาดน้ำ คือ เป็นตลาดที่มีที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งตลาดท่าน้ำนั้น นับได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวไทยวนเลยก็ว่าได้ เนื่องจากชาวยวนมีวิถีชีวิตอยู่เคียงคู่กับแม่น้ำ ตลาดและวัด

ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล เริ่มก่อตั้งโดยชุมชนเมื่อ พ.ศ. 2551 เป็นตลาดเล็กๆ ที่ออกแบบให้คล้ายกับตลาดดั้งเดิมในหมู่บ้านทางภาคเหนือ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักภายในตลาดได้มีการนำเสนอวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางด้านอาหารการกินของชาวไทยวนที่อยู่อาศัยในบ้านต้นตาล โดยนำเสนอในรูปแบบตลาดน้ำโบราณ ซึ่งตลาดท่าน้ำเป็นวัฒนธรรมของชาวไทยวน หรือชาวล้านนามาแต่โบราณ คำว่า “ตลาด” “อาหาร” “แม่น้ำ” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ประการที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยวน  ซึ่งเป็นชุมชนที่อพยพมาจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จึงเรียกตัวเองว่า  ไทยวน โดยด้านในของตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล จะมีผู้ค้าผู้ขายที่แต่งกายแบบไทยวน รวมไปถึงอาหารพื้นเมืองที่หาทานได้ยาก เช่น ข้าวซอย น้ำพริกหนุ่ม หมี่แจ๊ะ หรือ ผัดหมี่ไทยวนโบราณ ข้าวแคบ (ข้าวเกรียบ) หมี่กรอบ แป้งจี่ ไข่ป่าม ขนมกง ขนมต้ม และสินค้าพื้นบ้าน อาทิ เสื้อผ้าพื้นเมือง ผ้าถุง ผ้าซิ่น ย่าม และเครื่องจักสาน เป็นต้น โดยจะมีการเปิดตลาดทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้นำสินค้าและอาหารไทยวนมาจำหน่าย และที่สำคัญในตลาดจะมีเวทีการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองไทยวน

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: โยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์

ที่ตั้ง: หมู่ 6 ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

โยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นพื้นที่ตักน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นหนึ่งในเบญจสุทธิคงคาน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำสายสำคัญ 5 สาย ที่ใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอันศักดิ์สิทธิ์ (พิธีบรมราชาภิเษก) ของราชวงศ์จักรี สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสทางชลมารค และแวะลงสรงน้ำ ณ บ้านท่าราบ ปรากฏว่าเรือพระที่นั่งติดสันดอนทราย ณ บริเวณนี้จึงมีการให้สาวยวนต้นตาลหลายร้อยนางมาช่วยกันฉุดลากเรือออกไปได้ ในครั้งนั้น พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยสายน้ำที่เย็นลึกและนิ่งจึงมีพระราชประสงค์ให้นำน้ำบริเวณนี้ไปทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

โยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่กึ่งกลางป่าสักระหว่างบ้านท่าราบ ตำบลต้นตาลและบ้านไผ่ล้อม ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เดิมริมแม่น้ำป่าสักแห่งนี้เป็นหาด ทรายราบเรียบลดหลั่นเป็นแนวยาวประมาณหนึ่งกิโลเมตรเศษ ในฤดูแล้งน้ำจะตื้นเขิน

เรื่องราวของท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จฯ หัวเมืองปริมณฑล จังหวัดสระบุรี พระองค์ทรงเรือพระที่นั่งมาติดสันดอนกลางหาดแม่น้ำป่าสัก ณ บ้านท่าหินลาด ตำบลท่าราบ ครั้นเมื่อการเป็นเช่นนั้นจึงได้เกณฑ์ไพร่พล บริเวณริมข้างลำน้ำ เพื่อที่จะชักลากเรือให้พ้นเขตสันดอน แต่ว่าตามกฎมณเฑียรบาลนั้น ตราห้ามไว้  มิให้ราษฎรชายลงไปช่วย เพื่อป้องกันการวางแผนประทุษร้ายเจ้านายชั้นสูง แต่เพื่อมิให้เรือพระที่นั่งติดสันดอนอยู่เช่นนั้น หญิงชาวบ้านชาวไทยวนที่เห็นเหตุการณ์กลุ่มหนึ่ง ได้ตัดสินใจดึงผ้าแถบที่พันรอบอกเพื่อปกปิดท่อนบนของแต่ละคน แล้วนำมาผูกต่อๆ กันจนยาวพอจะใช้ชักลากเรือพระที่นั่งให้พ้นสันดอนได้สำเร็จ เรือได้ชักลากโดยกรมวังเกณฑ์หญิงสาวชาวพายัพ หรือในปัจจุบันคือกลุ่มชาวไทยวน ได้ชักลากเรือ 217 นาง เพื่อให้พ้นสันดอนจนมาถึงบ้านท่าราบหมู่ 6 ระยะทาง 1 กิโลเมตรเศษ พระองค์ทรงให้หยุดพัก และทรงเสด็จฯ ยังหาดทรายสีขาว แล้วเสด็จฯ เลียบหาดทราย และสรงน้ำจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้พระราชทานเงินรางวัลแด่ผู้ที่ชักลากเรือในคราวนั้น น้ำในบริเวณดังกล่าวเป็นน้ำนิ่งและลึกใสเย็น จึงเป็นเหตุให้ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์สระบุรี ได้เป็นท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเบญจสุทธิคงคา เพื่อที่จะนำน้ำเข้าพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อยมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ในพระราชพิธีบางอย่างที่จะใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น น้ำสรงมุรธาภิเษก คือ น้ำรดพระเศียรพระเจ้าแผ่นดิน  น้ำอภิเษก น้ำพระพุทธมนต์ ฯลฯ น้ำที่จะนำมาใช้ในพระราชพิธีต้องตักพลีกรรมมาจากแหล่งน้ำที่สำคัญ แล้วจึงนำมาทำพิธีเสกให้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ พระราชพิธีดังกล่าวได้แบบอย่างมาจากพิธีกรรมของพราหมณ์ ซึ่งในประเทศอินเดียจะนำน้ำมาจากแม่น้ำห้าสาย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู เชื่อกันว่าแม่น้ำทั้งห้าสายนี้ (เบญจมหานที) ไหลมาจากเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระอิศวร จึงเป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนประเทศไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา น้ำสรงมุรธาภิเษกนำมาจากสระเกษ สระแก้ว สระคงคา และสระยมนา ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ น้ำสรงมุรธาภิเษกในรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 นอกจากนำน้ำมาจากสระทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังใช้น้ำในแม่น้ำสำคัญอีกห้าสาย คือ


  1. แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก

  2. แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี

  3. แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง

  4. แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสาคร

  5. แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าชัย แขวงเมืองเพชรบุรี


แม่น้ำทั้งห้าสายนี้รวมเรียกว่า เบญจสุทธิคงคา อนุโลมตามปัญจมหานทีในชมพูทวีป แม่น้ำ  แต่ละแห่งเมื่อตักพลีกรรมมาแล้วจะต้องทำพิธีเสก ณ เจติยสถานสำคัญของแขวงนั้นก่อนแล้วจึงส่งเข้ามาทำพิธีกรรมที่กรุงเทพฯ น้ำที่ตักที่ท่าราบนี้จะนำไปทำพิธีเสกที่พระพุทธบาทก่อน

รัชกาลปัจจุบัน ได้มีพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จังหวัดสระบุรี เพื่อประกอบพิธีทำน้ำมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษก เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ แม่น้ำป่าสัก บ้านท่าราบ ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี จากนั้น อัญเชิญขบวนนำน้ำอภิเษกนี้แห่ขบวนอันงดงามไปยังวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เพื่อเตรียมจัดทำพิธีมหาพุทธาภิเษกเจริญพระพุทธมนต์เสกน้ำอภิเษกในลำดับต่อไป และครั้งนี้มีกลุ่มหญิงสาวไทยวนในพื้นที่ 266 คนเข้าร่วมพิธีชักลากรถบุษบกอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วย

ปัจจุบัน โยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นพื้นที่ในความดูแลของ ครูกฤษฏิ์ ชัยศิลบุญ มีกลุ่มอาชีพเย็บปักถักร้อยย่าม ฝีมือชั้นเลิศของอำเภอเสาไห้

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: วัดเขาแก้ววรวิหาร

ที่ตั้ง: ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

วัดเขาแก้ววรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร พื้นที่โดยทั่วไปของพระอารามเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ โอบล้อมด้วยผืนนา อันเป็นแหล่งปลูกข้าว “เสาไห้” ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ถัดออกไปประมาณ 200 เมตรเป็นแม่น้าป่าสักและถนนสายหลวงสระบุรี ปากบาง

ประวัติความเป็นมาของการสร้างสันนิษฐานว่า แต่เดิมวัดเขาแก้วเป็นพระอารามที่สร้างขึ้นตั้งแต่ ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อราวปี พ.ศ. 2171 ด้วยตั้งอยู่บนเส้นทางเสด็จ พระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ครั้นต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาทและพระพุทธฉาย สระบุรี ทรงหยุดพักพระราชอิริยาบถ ณ พลับพลาบริเวณท่าหินลาดหน้าพระอาราม ทอดพระเนตรเห็นพระอารามชารุดทรุดโทรมและตั้งอยู่ในชัยภูมิเนินเขาเตี้ยๆ ที่งดงามแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ เหมาะสาหรับเป็นที่ปฏิบัติสมณธรรม ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต กัลยาณมิตร) เป็นแม่กองทาการบูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างเสนาสนะขึ้นมาใหม่ มีการขยายขนาด พระอุโบสถให้ใหญ่ขึ้น ก่อกำแพงแก้วล้อมรอบ รวมทั้งบูรณะพระเจดีย์สร้างพระวิหารจัตุรมุุขยอดปรางค์ขึ้นใหม่ กับทั้งสร้างกุฏิสงฆ์ด้านทิศเหนือพระเจดีย์ เมื่อการแล้วเสร็จได้ทรงสถาปนาวัดเขาแก้วเป็น พระอารวมหลวง พระราชทานนามว่า วัดศรีรัตนาราม ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดระเบียบคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2456 สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจคณะสงฆ์ในพื้นที่เมืองสระบุรี ทอดพระเนตรป้ายวัดหน้าท่าหินลาด รับสั่งว่าเป็นภาษามคธ จึงทรงให้เรียกเป็นคำไทยว่า วัดเข้าแก้ว เป็นชื่อนามพระอารามตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สำหรับรูปแบบการสร้างพระวิหารจัตุรมุขยอดปรางค์ 5 ยอดที่กล่าวมาสันนิษฐานว่าอาจได้รับแรงบันดาลใจมาจาก พระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี ที่ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2406 แต่ลดขนาดให้เล็กลง และปรับโครงสร้างส่วนล่างเป็นพระวิหารประดิษฐานพระพุทธปฏฺมาและรอยพระพุทธบาท สิ่งที่น่าสนใจและมีความสำคัญยิ่งภายในวัดเขาแก้ววรวิหารอีกประการหนึ่งได้แก่ ภาพจิตรกรรมซึ่งเป็นงานจิตรกรรมสีฝุ่นที่เขียนประดับผนังภายในพระวิหารจัตุรมุขยอดปรางค์

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: ศูนย์ผ้าทอบ้านต้นตาล

ที่ตั้ง: ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

ชุนชมดั้งเดิมในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ยังคงยึดมั่นในอัตลักษณ์และขนบธรรมเนียมไทยวน ชาวบ้านต้นตาลมีฝีมือในการทอผ้าและศิลปหัตถกรรมที่ประณีตสวยงาม จนมีการก่อตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าขึ้น โดยชาวบ้านที่ว่างงานรวมตัวกันใช้เวลาว่าง ให้เป็นประโยชน์และเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การทอผ้า ที่ครบวงจรให้กับเยาวชน และบุคคลทั่วไป โดยผ้าที่ทอมีหลายแบบ ได้แก่ ผ้าขาวม้า ผ้าพื้น ผ้าสี่เขา ผ้าลายดอกพิกุลซึ่งเป็นลายแบบโบราณของคนไทยวน

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: วัดพระยาทด

ที่ตั้ง: ตำบลพระยาทด อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

วัดพระยาทด อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ตามประวัติที่มีการบันทึกไว้ในสมัยก่อนยังไม่มีการสร้างเขื่อนพระราม 6 หน้าแล้งน้ำหน้าวัดจะแห้งขอดเป็นหาด ผู้คนเดินข้ามไปมาได้ สมัยก่อนพระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์จะเสด็จประพาสทางน้ำโดยเรือ เมื่อเจอเจ้านายเสด็จผ่านก็ป่าวร้องให้ทำสะพานทำพลับพลาข้างตลิ่งให้ท่านขึ้นเที่ยวชม ที่ใดเป็นหาดก็เกณฑ์ชาวบ้านมาโกยทรายให้เป็นร่องน้ำให้เรือแล่นผ่านไปได้สะดวกและทำการทดน้ำโดยใช้ไม้มาปัก ใช้เชือกหรือใบไม้มาทดน้ำให้เอ่อขึ้น ที่หาดพระยาทดนั้นคงเป็นการพยายามเกณฑ์คนมาทดน้ำตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า "พระยาทด”

ทั้งนี้ มีการสันนิษฐานว่าวัดได้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีก่อน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ.2171 ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในเขตสระบุรี มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ในดินแดนแห่งนี้มากมาย เกจิเลื่องชื่อ หลวงพ่อดี ฐิตาโภ คนเฒ่าคนแก่ในอำเภอเสาไห้เล่าให้ฟังถึงปาฏิหาริย์ต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า ผู้ใดอาราธนาบูชาวัตถุมงคลของหลวงพ่อดีแล้วนั้นจะแคล้วคลาดปลอดภัย เด่นนักเรื่องพุทธคุณหนังเหนียว ฟันแทงไม่เข้า รวมทั้งเป็นที่เลื่องลือและประจักษ์แก่ลูกศิษย์ทั่วไปในเรื่องอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแคล้วคลาด โชคลาภเมตตา ค้าขาย

การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อดีนั้น ท่านจะปลุกเสกลำพังในโบสถ์มหาอุดของวัดเท่านั้น ท่านว่า "โบสถ์นี้อายุมากกว่า 300 ปี มีความศักดิ์สิทธิ์ในตนเอง เป็นโบสถ์มหาอุด แม้เพียงว่าเข้ามาสวดมนต์ไหว้พระในโบสถ์นี้ก็เป็นสิริมงคลแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโบสถ์จะคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย" ดังนั้นเมื่อใดที่หลวงพ่อดีจัดสร้างวัตถุมงคลจะต้องปลุกเสกในโบสถ์มหาอุดแห่งนี้

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: รุกขมรดกยางนา

ที่ตั้ง: ตำบลพระยาทด อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ข้อมูลโดยสังเขป:

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษา สืบทอด วัฒนธรรมของชาติและความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ ได้เล็งเห็นว่านอกเหนือไปจากมรดาภูมิปัญญาที่ได้แสดงออกผ่านภาษา ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม วรรณกรรมพื้นบ้าน และงานเทศกาลประเพณีต่าง ๆ ทั้งที่เป็นรูปแบบและนามธรรมแล้ว  สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ต้นไม้ใหญ่” จำนวนไม่น้อย ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ ปูมหลังที่มีทั้งตำนาน เรื่องเล่า และความเชื่อที่มีความผูกพันกับชุมชนท้องถิ่นมาอย่างช้านานได้ ที่สำคัญ “ต้นไม้” ยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และเป็นมรดกล้ำค่าของชาติ ที่ก่อให้เกิดความสมดุลของชีวิตและธรรมชาติ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้จัดทำโครงการต้นไม้ที่ทรงคุณค่าขึ้น ด้วยการสำรวจและคัดเลือกต้นไม้จากทั่วประเทศ และประกาศเป็นรุกขมรดาของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี ประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง ประกาศผลการคัดเลือกต้นไม้ “รุขมรดกของแผ่นดิน” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ได้แก่ กลุ่มระบบนิเวศป่ายางนา จ.สระบุรี ซึ่งประกอบด้วย 1. วัดพระยาทด ต.พระยาทด อ.เสาไห้  จ.สระบุรี 2. วัดป่าสัก ต.ดาวเรือง อ.เมือง จ.สระบุรี และ 3. วัดหงษ์ดาราวาส ต.นาโฉง อ.เมือง จ.สระบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลต้นไม้ พร้อมทั้งนำข้อมูลไปใช้ในการสืบค้น เผยแพร่ และส่งเสริมให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม รวมทั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กเยาวชนและประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของต้นไม้และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูดูแลรักษาต้นไม้และการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น

2. ทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้แก่ ประเพณีเรือยาวเสาไห้ ประเพณีถวายสลากภัต รวมถึงทุนวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาของชาวไทยวน ได้แก่ ผ้าทอไทยวน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประเพณีเรือยาวเสาไห้

การแข่งเรือตามลำน้ำป่าสักเป็นประเพณีนิยมมาตั้งแต่โบราณกาล ไม่แน่ชัดว่าเริ่มกันเมื่อใด แต่เป็นกิจกรรมที่ดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นประเพณีประจำอำเภอเสาไห้ วัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักจะมีเรือยาวเกือบทุกวัด  เรือยาวจะขุดจากต้นไม้ขนาดใหญ่ต่อเป็นเรือยาว หรือหาซื้อมาจากต่างถิ่น บางวัดจะลงทุนหาซื้อเรือแห่จากเจ้านายชั้นสูงในพระนครที่เลิกใช้งานแล้ว นำมาตกแต่งใหม่ ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดให้ใช้การได้

หนุ่มสาววัยฉกรรจ์สมัยโบราณก็จะนิยมเล่นการแข่งเรือ ถือเป็นกีฬาพื้นบ้านที่เชื่อมความสามัคคีระหว่างชุมชนในลำน้ำเดียวกัน ได้รู้จักพบมิตรใหม่และกระชับมิตรเก่า จะมีการแข่งขันในช่วงออกพรรษา เป็นช่วงที่น้ำหลากหลังฤดูกาลไถดำนาสิ้นสุดลง ต้นข้าวเริ่มตั้งท้องบางชูช่อรวง ชายฉกรรจ์จะมาฝึกซ้อมกำลังเตรียมเพื่อลงแข่งขันกับชุมชนอื่น หญิงสาวก็เตรียมซ้อมเพื่อลงแข่งขันเรือเล็กด้วยเช่นกัน หญิงบางกลุ่มเตรียมเพลงเรือไว้ร้องรำให้กำลังใจฝีพายในหมู่บ้านของตนเอง และอาจเป็นเพลงเรือที่ส่งให้แก่ฝีพายบ้านอื่นด้วย

ช่วงเดือนตุลาคม วัดใดที่เป็นเจ้าภาพก็จะประกาศเชิญให้วัดต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำหรือห่างไกลออกไปส่งเรือ เข้าแข่งขัน  มีการแข่งขันแห่เรือและประกวดเรือสวยงาม ปัจจุบันอำเภอเสาไห้เป็นผู้ดำเนินการจัดงานแข่งเรือยาวประจำปี  จัดงานที่ท่าน้ำอำเภอ ก่อนที่เรือยาวจะลงสู่ท้องน้ำจะมีการบายศรีบวงสรวงเชิญขวัญเรือเพื่อให้ประสบชัยชนะและเป็นกำลังใจแก่ฝีพาย ในพิธีจะให้หญิงสาวพรหมจารีย์เป็นตัวแทนของแม่ย่านางเรือ มีการเซ่นสรวงรุกขเทวดาที่สิงสู่อารักษ์

ประเพณีถวายสลากภัต

ประเพณีถวายสลากภัต เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระพระสงฆ์วิธีหนึ่งอันเป็นที่นิยมของชาวเหนือ โดยทั่วไปจะเริ่มใน วันเพ็ญ เดือน 12 ถึงแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ เมื่อทางวัดและชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลาก ก่อนวันถวายสลาก ชาวบ้านจะจัดทำพิธีเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน 1 วัน เรียกวันที่เตรียมของนี้ว่า “วันดา” ชาวบ้านจะจัดเครื่องไทยทานลงใน “ก๋วย” (เป็นตะกร้าหรือชะลอมขนาดเล็กที่สานด้วยไม้ไผ่) เรียกว่า “ก๋วยสลาก” แล้วนำของไทยทานบรรจุลงไป แต่ในปัจจุบันมีการดัดแปลงจาก “ก๋วยสลาก” มาเป็น “กล่องพลาสติก” บรรจุเครื่องไทยทานที่เจ้าภาพมีศรัทธานำมาถวาย นอกจากนี้อาจจะมีการตกแต่งเครื่องไทยทานเป็นต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่สูงตามต้องการ นำไม้ไผ่เหลาและทำเป็นวงกลมทำเป็นชั้น ๆ อาจเป็น 3 ชั้น , 5 ชั้น , 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น แต่ละชั้นนำเครื่องไทยทานมาผูกติดให้สวยงาม ส่วนบนสุดจะนิยมนำร่มฉัตรมาเสียบไว้  และใช้ปัจจัยผูกติดตามขอบร่มตามศรัทธาของเจ้าของกัณฑ์สลาก  สลากแต่ละกองเรียก กัณฑ์ฉลากซึ่งมีเส้นสลากระบุเบอร์และชื่อเจ้าภาพให้พระจับ เมื่อพระจับได้ก็ให้เจ้าภาพนำไปถวายตามเบอร์ของตน ไม่สามารถเจาะจงพระสงฆ์ได้ ถ้าเป็นกองใหญ่พระท่านก็เมตตาไปรับและอ่านข้อความที่เขียนไว้อีกครั้ง กล่าวอนุโมทนาคาถา และให้พร เส้นสลากทั้งหมดจะให้ทางวัดรวบรวมไปเผาต่อไปสลากภัต เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎก เป็นชื่อเรียกวิธีถวายทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่ง โดยการจับสลากเพื่อแจกภัตตาหารหรือปัจจัยวัตถุที่ได้รับจากผู้ศรัทธาถวาย เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธาที่มีปัจจัยวัตถุจำกัด และไม่สามารถถวายแก่พระสงฆ์ทั้งหมดได้ โดยสลากภัตนับเนื่องในสังฆทานที่มีอานิสงส์มาก เพราะถือว่าแม้จะตั้งสลากถวายกับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่จับสลากได้ ย่อมเท่ากับถวายกับพระสงฆ์ทั้งหมด เพราะสลากที่จับนั้นพระสงฆ์ทุกรูปในอารามนั้นมีสิทธิ์ได้ นอกจากนั้นสลากภัตยังเป็นหลักการในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เพื่อสร้างจิตสำนึกความเท่าเทียมกันและสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันแก่คณะสงฆ์การถวายโดยอุทิศให้แก่สงฆ์ โดยอุทิศให้เป็นเผดียงสงฆ์ (ไม่ระบุเฉพาะว่าจะถวายรูปไหน) เช่นการถวายสลากภัต แม้พระจะได้รับของที่ถวายแค่รูปเดียว แต่ถือได้ว่าพระสงฆ์ที่มารับถวายเป็นพระที่ได้รับมอบหมายจากสงฆ์ ก็นับเป็นสังฆทานที่สมบูรณ์เช่นกัน

ผ้าทอไทยวน

ผ้าทอที่มีเอกลักษณ์ของชาวไทยวนมีการรื้อฟื้นการทอขึ้นมาใหม่ แต่ใช้ด้ายสำเร็จรูปในการทอ ซึ่งได้แก่ ซิ่นชาวเหนือ ซิ่นมุก ซิ่นดำด้าน ซิ่นไก่ ย่ามลายขิด ผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่ม สำหรับผ้าที่มีเทคนิคในการทอยาก เช่น ผ้าขิด ประเภทผ้าปรกหัวนาค ผ้าสไบ ซิ่นตีนจก ยังไม่ได้รื้อฟื้น เนื่องจากแต่ในการทอผ้าแต่ละผืนต้องใช้เวลานานมากทำให้ชาวบ้านไม่นิยมทอ สาเหตุที่ผ้าทอไทยวนไม่สูญหายไป เนื่องจากบ้านเรือนชาวไทยวนอยู่ในเสาไห้ ซึ่งมีระยะทางใกล้กับวัดพระพุทธบาท หากเดินไปใช้เวลาแค่หนึ่งวันเท่านั้น (ก่อนที่จะมีการสร้างถนนพหลโยธินขึ้น) เมื่อมีเวลาว่างชาวบ้านจะทอผ้าเช็ดหน้าเพื่อไปขายในช่วงเทศกาลบูชารอยพระพุทธบาท เดือนสาม และเดือนสี่ ซึ่งผู้ที่มาไหว้รอยพระบาทนิยมซื้อหาไปใช้กันมาก แหล่งทอผ้าพื้นเมืองแบบดั้งเดิมและแบบส่งเสริมใหม่ คือ  ผ้ามัดหมี่ของชุมชนไทยวน อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี (ภูธร ภูมะธน บรรณาธิการ, 2541: หน้า 111) คือ กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านต้นตาล ในตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

พิธีกรรมเกี่ยวกับผ้าทอไทยวน ได้แก่

1) พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด  ในอดีตมีการทอผ้าพื้นเมืองไทยวนไว้ใช้เป็นของกำนัลสำหรับคนทำคลอดหรือหมอตำแย เพื่อแสดงถึงความขอบคุณ หลังจากคลอดเด็กแล้วแม่จะนำผ้าที่เตรียมไว้ห่มเมื่อเด็กคลอดออกมา

2) พิธีบวช คนไทยวนมีความเชื่อเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาว่ามารดาผู้ที่ทอผ้าให้นาคได้สวมใส่ ในพิธีจะได้รับอานิสงส์ไม่น้อยไปกว่าลูกชายที่มีโอกาสได้ออกอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน ผ้าได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในการบวชตั้งแต่การเป็นนาค อดีตผู้เป็นมารดาจะทอผ้า ฝ้ายที่ย้อมด้วยครามให้นาคนุ่ง นอกจากนี้ยังทอสบง ผ้าจีวร ย่าม ไว้ให้ลูกชายของตนใช้เวลาบวชเป็น พระสงฆ์ ผ้าปรกนาค เป็นผ้าจกที่ใช้คลุมหัวนาค

3) พิธีแต่งงาน เกี่ยวข้องกับการแต่งงานโดยใช้เป็นผ้าไหว้ที่ฝ่ายหญิงจะทอผ้าไว้เป็นผ้าไหว้เพื่อแสดงความเคารพหรือขอขมาในพิธีแต่งงาน ผ้าไหว้ฝ่ายหญิงจะเตรียมไว้ก่อนวันแต่งงานเพื่อขอขมาพ่อสามี แม่สามี ญาติ ผู้ใหญ่ฝ่ายชาย

4) งานศพ อดีตผ้าทอพื้นเมืองไทยวนที่เกี่ยวข้องกับพิธีศพ คือ ผ้าที่ทอไว้สำหรับห่อศพ  ผ้าที่สวมใส่ศพ และใช้สำหรับเป็นสายจูงโลงศพของพระสงฆ์นำหน้าขบวนแห่ ผ้าไทยวนก็ยังเกี่ยวข้องเป็น เครื่องนุ่งห่มสำหรับกลุ่มคนที่มาร่วมงานศพเป็นการไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตและเป็นการให้เกียรติเจ้าภาพ จึงนิยมใส่สีดำทั้งชุดที่ทอเอง  นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนมีความเชื่อในการเก็บรักษาบูชาผ้าโบราณ เพื่อใช้ในพิธีการพิเศษ หรือใช้ผ้าซิ่นในพิธีทำขวัญข้าว ซึ่งเป็นพิธีบูชาย่าขวัญหรือพระแม่โพสพในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านต้นตาลเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มสตรีแม่บ้านตำบลต้นตาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้แก่ สตรีในตำบลต้นตาล โดยได้อาศัยความรู้ความสามารถในการทอผ้าที่ได้สั่งสมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มาถ่ายทอดในรูปแบบของการรวมกลุ่มหัตถกรรมทอผ้า กิจกรรมดังกล่าวได้ก่อตั้งขึ้นในราว พ.ศ. 2525 ได้รับการสนับสนุนจากเงินทุนอุตสาหกรรมพัฒนาชุมชนเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท ระยะแรกมีสมาชิกราว 15 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตรีแม่บ้านภายในชุมชนต้นตาล เริ่มจากการนำเงินทุนมาซื้อกี่ทอผ้า 2 ตัว พร้อมกับด้าย ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นผ้าทอพื้นเมือง ผ้าถุงไทยวน ผ้าขาวม้า ผ้าพื้นสำหรับตัดเสื้อ ผ้าลายดอกพิกุล ผ้าลายสี่เขาหรือสี่ตะกรอและผ้าลายมุก มีทั้งลายย่ามมุกและลายมุกแต่งเสื้อ ไหมที่ใช้เป็นไหมประดิษฐ์ (สังเคราะห์) ในอดีต อาชีพทอผ้าถือเป็นงานที่ผู้หญิงไทยวนทุกคนควรจะทำได้ ในปัจจุบัน งานทอผ้าจะมีเพียงหญิงวัยชราและวัยกลางคน เท่านั้นที่ทำได้ โดยเริ่มจากการทำเป็นอาชีพเสริมในเวลาว่างจนกระทั่งมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน และทำงานกันเป็นระบบและเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงทำให้งานทอผ้ากลายเป็นอาชีพหลักของผู้เฒ่าบางคน และที่สำคัญ ยังมีการส่งเสริมการฟื้นฟูลายผ้าเมืองร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านและส่งเสริมให้เยาวชนในชุมชนได้เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ของการทอผ้าโดยเปิดสอนให้กับผู้ที่สนใจสามารถไปเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ณัฏฐภัทร จันทวิช 2541 : หน้า 38-41)

ศิลปะการแสดงของชาวไทยวน

ประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นบ้านของชุมชนตำบลต้นตาล ประกอบด้วยเรื่องราวของการร่ายรำ การตีกลอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือกิจกรรมประเพณีพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชุมชน ได้แก่ ฟ้อนผางประทีป ฟ้อนแห่โตก ตีกลองสะบัดชัย และฟ้อนปิติ

ฟ้อนผางประทีปเป็นการแสดงของชาวไทลื้อทางภาคเหนือ นิยมฟ้อนในวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือวันลอยกระทง ในยามออกทัพจับศึกก็เคยมีหารฟ้อนผางประทีปเพื่อเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจให้เหล่าทหารกล้ามีกำลังใจสู้ศึกสงคราม แต่มีการห้ามฟ้อนในงานอวมงคล

อาหารไทยวน

อาหารพื้นบ้านคนไทยวน อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรีมีพื้นฐานสำรับอาหาร สืบทอดมาจากวัฒนธรรมล้านนาผสมผสานกับการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและการปรับสูตรอาหารในครัวเรือน ซึ่งอาหารสำคัญ ได้แก่ สำรับขันโตกประกอบด้วย ต้มยำพริกดำไก่บ้าน ผัดหมี่ไทยวนโบราณหรือ หมี่แจ๊ะ ลาบหมู หมูทอดหรือทอดมัน น้ำพริกหนุ่ม หมูย่างจิ่มแจ่ว แคบหมู และขนมกง โดยสำรับขันโตกเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมของคนไทยวนในฐานะคนล้านนาในเขตภูมิศาสตร์ภาคกลางลุ่มน้ำป่าสัก นอกจากนี้ยังมีกระยาสารท ขนมข้าวแดกงา ขนมไข่ปลา ขนมเพ่อเร่อ ขนมฝักบัว และไข่ป่าม เป็นต้น

ภาษาไทยวน

วัฒนธรรมภาษาของชาวไทยวนเสาไห้ใช้อักษรธรรมแบบเดียวกับชาวล้านนา โดยปรากฏหลักฐานที่สำคัญ คือ การค้นพบกฎหมายพญามังรายหรือกฎหมายพญามังรายศาสตร์ที่ตราขึ้นใช้ในอาณาจักรล้านนาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพญามังราย (พ.ศ.1804-1854)  เป็นกฎหมายฉบับที่คัดลอกต่อ ๆ กันมา ฉบับที่ค้นพบที่อำเภอเสาไห้เป็นฉบับที่คัดลอกเมื่อ พ.ศ.2343 (สมัยรัชกาลที่ 1) ที่ชาวไทยวนได้นำติดตัวมาในคราวอพยพมาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางนำว่าเป็นหลักฐานที่บ่งชี้อย่างเด่นชัดต่ออัตลักษณ์ความเป็นชาวไทยวนที่สามารถสืบค้นหารากทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ทางภาษาของชาวไทยวนนับว่ามีลักษณะเฉพาะ แปลกกว่าภาษาทั่วไปคือ เกือบจะไม่มีภาษาเขมร ภาษาบาลี หรือภาษาสันสกฤตปน ซึ่งภาษาไทยวนมีรากฐานมาจากภาษาคฤนถ์ (อ่านว่า ครึน) ของอินเดียฝ่ายใต้ ดังนั้น   การพูดช้า ๆ ทอดหางเสียงทำให้เป็นสำเนียงภาษาที่น่ารับฟังกว่าภาษาอื่น ๆ สำหรับประเพณีสำคัญแบบที่ชาวล้านนาปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น ประเพณีสลากภัตร ประเพณีถวายปราสาทผึ้ง เป็นต้น ยังคงมีการสืบทอดและผลิตซ้ำช่วยตอกย้ำถึงคุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อและอุดมการณ์ของชุมชน แต่ในปัจจุบันประเพณีดังกล่าวได้เลือนหายไปมากกว่า 10 ปี และกำลังได้รับการพิจารณาฟื้นคืนขึ้นมาใหม่

การแต่งกายชาวไทยวน

วัฒนธรรมการแต่งกายสำหรับชาวไทยวนในอดีต ผู้หญิงจะต้องมีทักษะทอผ้าตีนจกสะท้อนให้เห็นถึงเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะมีครอบครัวได้ แต่ในปัจจุบันคติค่านิยมและการให้คุณค่าทางสังคมวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงชาวไทยวนคือ ผู้ที่นุ่งผ้าซิ่นตีนจก ครั้งในอดีตการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ที่ยังคงพบหลักฐานอยู่บ้าง เช่น สร้อยทองที่เรียกภาษาพื้นบ้านว่า “สร้อยถั่วแปบ” ใช้สวมคอหรือสะพายแล่งสำหรับผู้หญิงเวลาไปทำงานนอกบ้าน ร่วมกับการนุ่งผ้าซิ่นตีนจก ซิ่นตา ซิ่นซิ่ว ซิ่นแหล้ และเคียนอก ส่วนผู้ชายเมื่อออกไปเดินป่าหรือทำงานนอกบ้านจะนิยมนุ่งกางเกงชักปก ลักษณะคล้ายกางเกงจีนย้อมด้วยสีคราม สวมเสื้อแลบแดงหรือสาบเสื้อสีแดงหรือขลิบแดงบริเวณหน้าอกประดับด้วยกระดุมเงิน คาดเอวด้วยกระเป๋าถักหรือไท่สำหรับใส่เงิน และสะพายย่ามใส่สัมภาระ ปัจจุบันค่านิยมทางวัฒนธรรมด้วยการสะพายย่ามของคนไทยวนเสาไห้สระบุรีกำลังได้รับการฟื้นฟูและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักด้วยค่านิยมทางสังคมวัฒนธรรมการแต่งกายผ้าไทยพื้นเมือง โดยเฉพาะย่ามตำบลต้นตาล-พระยาทด อำเภอเสาไห้ นับว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตย่าม อัตลักษณ์ไทยวนที่มีช่างฝีมือผลิตด้วยทักษะและการออกแบบที่เป็นอัตลักษณ์

ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ตำบลม่วงงาม ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวตำบลม่วงงามปัจจุบันมีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์  คนที่พาอพยพมาชื่อ “ขุนหลวงศรีขรภูมิ” และลูกชายคนหนึ่ง  ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “พ่อเฒ่าโหมด” ซึ่งได้ทำการอพยพมาในครั้งนั้น  ได้จัดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกพักอยู่ที่บ้านเวียงหรือวัดเวียง ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (บ้านช้างไทยในปัจจุบัน) และอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ที่วัดม่วงลาวหรือบ้านม่วง หมู่ที่ 4 และต่อมาได้แยกเป็นหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านกลาง บ้านมะกรูด บ้านธรรมจินดา และบ้านโคกในปัจจุบัน

1. ทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ จากการศึกษาเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมไทยวนและลาวเวียงได้ปรากฏทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้อย่างชัดเจน ได้แก่ วัดบ้านโคก วัดมะกรูด วัดตะเฆ่ วัดพระยาทด หอชาวนาโคกนาศัยและตลาดลาวเวียง ข้าวพันธุ์เจ๊กเชยเสาไห้ เป็นต้น กล่าวได้ว่าทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ของตำบลม่วงงาม ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางวิถีชีวิตและความเชื่อของผู้คนตั้งแต่ในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: หอชาวนาโคกนาศัย

ที่ตั้ง : หมู่ 8 ต.ม่วงงาม อ.เสาไห้ จ.สระบุรี 

ข้อมูลโดยสังเขป :

พื้นที่บริเวณนี้มีชื่อว่า “ศูนย์การเรียนรู้ โคก หนอง นาโมเดล ตำบลม่วงงาม” เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2556 บนที่ดินของ นางวนิดา ดำรงชัย หรือ กำนันไก่ กำนันตำบลม่วงงาม ที่บริจาคเพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเองเอาชนะยาเสพติดตำบลม่วงงาม โดยการสร้างพื้นที่ต้นแบบได้นำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นประโยชน์สำหรับชุมชนให้ชาวบ้านสามารถนำพืชผลไปกิน ไปใช้หรือแปรรูปพืชผลที่เพาะปลูกได้ไว้ในยามจำเป็น ส่วนที่เหลือก็นำไปขายเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน ต่อมาได้เป็นพื้นที่ริเริ่มการทำการเกษตรแบบพอเพียง

หอชาวนาโคกนาศัยได้ปลูกข้าวพันธุ์เจ๊กเชยเสาไห้ เนื่องจากพื้นที่อำเภอเสาไห้เป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา ถึงแม้จะมีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน แต่การทำนาในสมัยก่อนไม่ได้อาศัยน้ำจากแม่น้ำป่าสักเช่นดังปัจจุบัน แต่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ข้าวที่มีชื่อเสียงของเสาไห้ คือ “ข้าวเจ๊กเชย” คุณลุงเผ่า จันทร์ประสิทธิ์ เล่าว่า เจ๊กเชยเป็นคนจีนนำเรือมาซื้อข้าวในเสาไห้ประจำ วันหนึ่งเจ๊กเชยได้พันธุ์ข้าวมาจากบ้านสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี และนำเมล็ดข้าวมาให้ชาวเสาไห้ปลูก ปรากฏว่าข้าวนี้มีเมล็ดยาว น้ำหนักดี เวลาหุงจะขึ้นหม้อ จึงเป็นที่นิยมปลูกของชาวเสาไห้ ชาวบ้านเรียกข้าวนี้ว่า “ข้าวเจ๊กเชย” ในปัจจุบันฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลทำให้ผลผลิตข้าวเจ๊กเชยน้อยลง ประกอบกับนักวิชาการการเกษตรได้นำพันธุ์ข้าว กข ชาวนาเลยไม่นิยมปลูกข้าวเจ๊กเชย (สภาวัฒนธรรมอำเภอเสาไห้, 2545: หน้า 75) อาจเนื่องมาจากผลผลิตต่อไร่ข้าวพันธุ์เจ๊กเชยน้อยกว่าข้าวพันธุ์ กข แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงเข้าใจว่าข้าวที่ปลูกในอำเภอเสาไห้คือข้าวเสาไห้ หรือข้าวเจ๊กเชย

ข้าวพันธุ์เจ๊กเชยเสาไห้ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองและเป็นข้าวเจ้าไวต่อแสง ปลูกในช่วงฤดูนาปี ในพื้นที่อำเภอเสาไห้ อำเภอเมืองอำเภอหนองแซง อำเภอวิหารแดง อำเภอหนองแค อำเภอหนองโดน และอำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ผลิตภัณฑ์ข้าวท้องถิ่น “ข้าวเจ๊กเชย” มีลักษณะเด่น คือ หุงขึ้นหม้อสองเท่าและอิ่มนานกว่าข้าวทั่วไป ข้าวเปลือกมีสีฟาง เมล็ดมีความเรียวยาว เมื่อหุงแล้วข้าวจะสุกร่วนเป็นตัวไม่เกาะเป็นก้อน หุงขึ้นหม้อ ข้าวสุกนุ่ม ไม่แฉะ ไม่แข็งกระด้าง ไม่เหนียวและไม่ยุบตัว เมื่อเป็นข้าวราดแกงไม่บูดง่าย ทิ้งไว้เย็นข้ามวันคุณภาพไม่เปลี่ยน ข้าวเก่าเมื่อนำมาหุงไม่มีกลิ่นสาบ โดยข้าวของกลุ่มผลิตข้าวเจ๊กเชยเริงราง-เมืองเก่าได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ จากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคู่กับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q พร้อมรหัสรับรอง ซึ่งได้รับการรับรองจากบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วิถีชาวนาจัดในยุ้งข้าวแบบโบราณ ชื่อว่า“หอชาวนาโคกนาศัย”จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของการทำนา เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา เรื่องราวของข้าวเจ๊กเชยในอดีต ตลอดจนการจำลองครัวของบ้านชาวนา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนาลาวเวียงได้เป็นอย่างดี

สำหรับบริการทางการท่องเที่ยวของชุมชน กลุ่มเป้าหมายของโคกนาศัยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มศึกษาดูงาน ได้แก่ กลุ่มเยาวชนที่มาทำกิจกรรมดำนา และ กลุ่มครอบครัวจากกรุงเทพฯ ที่พาลูกหลานมาทำกิจกรรมในช่วงวันหยุด ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่

(1) กิจกรรมปักข้าวแรก เป็นพิธีกรรมก่อนการเพาะปลูก เพื่อบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบรรพ/บุรุษให้คุ้มครองป้องกันภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ให้มีความสวัสดิมงคล ความอุดมสมบูรณ์ ขอโอกาสและมีความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิต ในรอบปีปลูก หรือแสดงความกตัญญูแก่พระแม่โพสพ

(2) กิจกรรมดำนา เรียนรู้วิธีการดำนา และปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเจ๊กเชย

(3) กิจกรรมตำข้าวครกมองโบราณ ร่อนรำ ฝัดข้าว สาธิตการตำข้าว หรือครกกระเดื่อง แทนการสีข้าว แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตประเพณีของคนลาว ข้าวที่ตำใช้ได้แล้วประมาณ 2,000 ครั้ง

(4) กิจกรรมเก็บผักสวนครัวในโคก หนอง นาโมเดล นำผักที่เก็บได้ประกอบอาหารร่วมกับชุมชน อีกส่วนสามารถเก็บผักเพื่อนำไปประกอบอาหาร

(5) กิจกรรมล่องแพปริ่มน้ำ กินขนมโบราณ ณ ตลาดลาวเวียง ริมน้ำป่าสัก

(6) กิจกรรมใส่บาตรยามเช้าริมท้องนา

(7) เดินตลาดลาวเวียง เปิดมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี แต่ในปัจจุบันเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถมาเปิดตลาดได้ ทางกลุ่มจึงได้ปรึกษากันจึงเกิดแนวคิดการนำผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อที่ผลิตขึ้นภายในชุมชน เช่น ปลาร้าสับ พรมเช็ดเท้าไม้กวาด รวมถึงสินค้าทางการเกษตร (ผักต่างๆ) ฯลฯ ขึ้นรถโมบายเคลื่อนที่ออกไปจำหน่ายยังสถานที่ต่างๆที่มีการจัดงานหรือจัดกิจกรรม เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

2. ทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้แก่ วิถีชีวิตที่สะท้อนผ่านอาหารของคนลาวเวียงและภาษาลาวเวียง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

อาหารลาวเวียง

สำรับอาหารคนลาวเวียง ตำบลม่วงงาม เป็นสำรับอาหารเกิดขึ้นเกิดขึ้นจากแบบแผนการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวนา โดยถูกนำเสนอและประยุกต์ใช้เพื่อการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชาวนา สำรับอาหารเป็นผลผลิตที่หาได้และเติบโตขึ้นตามท้องไร่ท้องนาและเป็นอาหารที่เหมาะสมสะดวกสบายเวลาพกติดตัวมาทำนา สำรับอาหารลาวเวียงประกอบด้วย ยำดอกตานีหรือยำหัวปลี ข้าวห่อ ข้าวหลาม ไส้กรอกอีสาน ปลาร้าสับ และขนมดาดกระทะ

ภาษาลาวเวียง

ภาษาลาวเวียงเป็นภาษาในตระกูลไท-กะได ซึ่งเป็นตระกูลภาษาที่มีความสำคัญมากตระกูลหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้สื่อสารครอบคลุมพื้นที่บริเวณประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเมียนมาร์ แคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ประเทศเวียดนามทางเหนือและทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีการเรียกขานต่างกันไปตามชื่อเผ่าพันธุ์หรือตามที่ชาติอื่นใช้เรียก เช่น ภาษาชาน (Shan) ในเมียนมาร์ ภาษาไทย (Thai) ในประเทศไทยและภาษาลาว (Laos) ในประเทศลาว ภาษาถิ่นตระกูลไทย ที่ใช้พูดในประเทศไทย นอกจากภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาราชการแล้ว ยังมีภาษาไทยถิ่นอื่นอีกมามาย อันมีกลุ่มที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ภาษาลาว (Laos) ที่ใช้กันมากในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางและภาคตะวันออก เช่น จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี และฉะเชิงเทรา  เป็นต้น (วรรณา รัตนประเสริฐ, 2528, หน้า 1-2)

ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว: วัดสมุหประดิษฐาราม

ที่ตั้ง : หมู่ 7 ต.สวนดอกไม้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี 

ข้อมูลโดยสังเขป :

วัดสมุหประดิษฐาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เดิมเรียกว่า “วัดไผ่ก้อจ้อ” หมายถึง วัดที่ตั้งอยู่ในกลุ่มของป่าไผ่เล็กๆ เตี้ยๆ ตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งวัดปัจจุบันไปทางตะวันตกประมาณ 200 เมตร 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)  เจ้าพระยานิกรบดินทร์ฯ (โต) ได้เดินทางมาทางเรือและพบวัดไผ่จ้อก้อ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้างวัด และต่อมารัชกาลที่ 4 จึงสถาปนาวัดขึ้นเป็นอารามหลวง พร้อมทั้งได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสมุหประดิษฐ์ ” ตามตำแหน่งของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ มหินทรมหากัลยาณมิตร (โต) สมุหนายกในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 ( ต้นตระกูลกัลยาณมิตร ) ซึ่งเป็นผู้สร้างอารามนี้  สันนิษฐานว่าคงจะได้ถวายในรัชกาลที่ 4  เมื่อสร้างวัดและถวายเป็นพระอารามหลวงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดพระราชทานนามว่า “วัดสมุหประดิษฐาราม”

ในปี พ.ศ.2442 (รศ.118) ได้มีการซ่อมแซมอุโบสถ ศาลา และกุฏิ นอกจากนี้พระยาพิไชยรณรงค์สงคราม ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีในขณะนั้น ได้ขอพระบรมราชานุญาตเขียนภาพในพระอุโบสถเป็นภาพประเพณีท้องถิ่นและภาพในวรรณกรรมเรื่อง คาวี ประมาณปี พ.ศ.2444 (รศ.120) ได้ทำการย้ายที่ว่าการจังหวัดสระบุรีไปตั้งที่ทิศตะวันออกของหมู่บ้านไผ่ล้อมน้อย วัดสมุหประดิษฐ์จึงตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ว่าการจังหวัด จึงตกลงย้ายวัดไปไว้ทางทิศตะวันออกของจังหวัด แม้ว่าต่อมาจะย้ายที่ว่าการจังหวัดไปอยู่ที่ตำบลปากเพรียวห่างออกไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 8 กิโลเมตรก็ตาม วัดสมุหประดิษฐ์ก็ยังคงตั้งอยู่ที่เดิมมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

พระอุโบสถ  สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 และมีการบูรณะครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2442 (ร.ศ.118) ลักษณะทั่วไป ทรงไทยเฉลียง 2 ชั้น มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบันเป็นปูนลวดลายดอกไม้และสิงห์ ทั้ง 2 ด้าน หน้าต่าง 5 ช่อง ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง เพดานเป็นไม้ระบายด้วยสีและลวดลาย มีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีซุ้มประตูตรงกึ่งกลางของกำแพงทั้ง 4 ด้าน

พระประธาน ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถ เป็นพระหล่อลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก 10 นิ้ว (1.25 เมตร) อัญเชิญมาจากเมืองเก่าสุโขทัย มีพระอัครสาวกหล่อลงรักปิดทอง 2 องค์ นั่งพับเพียบประนมมืออยู่เบื้องซ้ายและเบื้องขวา

เจดีย์ทรงกลม ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ห่างจากกำแพงแก้วพระอุโบสถประมาณ 20 เมตร ที่ฐานล่างมีกำแพงแก้วล้อมรอบ กว้างยาวด้านละประมาณ 20 เมตร เป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม มีบันไดทางขึ้น 4 ด้าน องค์เจดีย์ทรงระฆังกลม เจดีย์องค์นี้สันนิษฐานว่า เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) สร้างเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุมารดาของท่าน และน่าจะสร้างพร้อมกับอุโบสถ

จิตรกรรมฝาผนัง

จิตรกรรมฝาผนังวัดสมุหประดิษฐาราม เขียนอยู่ภายในอุโบสถ ที่ผนังทั้ง 4 ด้าน และบนเพดาน ตามตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้

ผนังด้านข้างขวาขององค์พระประธาน บริเวณเหนือขอบหน้าต่าง เขียนเป็นภาพลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพจิตรกรรม เรื่อง หลวิชัย - คาวี

ผนังด้านข้างซ้ายขององค์พระประธาน บริเวณเหนือขอบหน้าต่าง เขียนเป็นภาพลวดลายพุ่มข้ามบิณฑ์ก้านแย่ง ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพจิตรกรรมเรื่อง สมุทรโฆษ

ผนังหุ้มกลองด้านหน้าองค์พระประธาน เหนือขอบประตูด้านบนขึ้นไป เขียนภาพลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ผนังข้างประตูด้านซ้ายเขียนภาพจิตรกรรมตอนเริ่มเรื่องสมุทรโฆษ และพิธีสะเดาะเคราะห์ ลอยกระทรงเสียหัว ส่วนผนังข้างประตูด้านขวาขององค์พระประธานเป็นตอนสิ้นสุดของเรื่องหลวิชัย - คาวี กับภาพขบวนแห่บั้งไฟ

ผนังหุ้มกลองด้านหลังองค์พระประธานเหนือขอบประตูขึ้นไป เขียนภาพลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ผนังข้างประตูด้านซ้ายเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องพระมาลัย ส่วนด้านขวาเขียนภาพการเล่นพื้นบ้าน เช่น ตะกร้อ ขี่ม้าส่งเมือง และเล่นเพลง

ประวัติการเขียนภาพ

ไม่พบเอกสารเกี่ยวกับชื่อของผู้เขียนภาพจิตรกรรมที่วัดแห่งนี้ เอกสารที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียนภาพไว้ แต่มีเรื่องราวที่น่าสนใจคือ

ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าบิเอทริสภัทรายุวดี (พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาแสง) ทรงเห็นว่าวัด สมุหประดิษฐาราม ซึ่งเป็นวัดต้นตระกูลของพระองค์ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงพระราชทานทรัพย์ให้พระยาพิไชยรณรงค์สงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีในขณะนั้น ทำการซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างในวัดทั้งหมด มี พระอุโบสถ ศาลาเล็ก-ใหญ่ หมู่กุฏิ หอระฆัง ตลอดจนการสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นใหม่ คราวนั้นได้ว่าจ้างช่างมาเขียนภาพฝาผนังภายในอุโบสถ ฝีมือช่างหลวง เมื่อ ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2443)

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดสมุหประดิษฐารามนี้ เขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นช่วงระยะเวลาที่ช่างเขียนได้รับวิธีการเขียนแบบจีนและตะวันตก ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่ รัชกาลที่ 2-4 จนถึงรัชกาลที่ 5 ความนิยมการเขียนภาพแบบมีมิติยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นภาพที่ได้ความสมจริง ด้วยการเพิ่มแสงเงา ความอ่อนแก่ของสีและเส้นนำสายตา มาผสมผสานกับภาพจิตรกรรมไทยแบบเดิม มีตัวอย่างงานจิตรกรรมฝาผนังเช่นเดียวกันนี้ที่อุโบสถวัดสุวรรณดาราราม อุโบสถวัดชุมพลนิกายาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อุโบสถวัดประตูสาร  อุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร จังหวัดสุพรรณบุรี และวัดจันทบุรี จังหวัดสระบุรี เป็นต้น

เทคนิคในการเขียนภาพ

          ภาพสถาปัตยกรรม ใช้วิธีเขียนแบบการมองด้วยมุมก้มในแนวเฉียง ทำให้เกิดมิติเห็นได้ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านบน มีทั้งภาพอาคารบ้านเรือน พระราชวัง กำแพงเมือง ภาพของอาคารบ้านเรือนนั้น จะมีเรือนเครื่องผูก มักจะเป็นบ้านของราษฎรธรรมดา มีทั้งที่เป็นกระท่อมที่ติดพื้นดินและเป็นเรือนยกพื้นมีใต้ถุนสูง มีทั้งแบบเรือนเดียว เรือนแฝด และหมู่เรือนที่อยู่เป็นกลุ่ม หลังคาทรงจั่วมุงด้วยหญ้าคาหรือแฝก มียอดปั้นลมไขว้กันคล้าย “กาแล” ของทางภาคเหนือ ฝาบ้านมีฝาขัดแตะ ฝาสำรวด บางบ้านฝาบ้านกรุด้วยใบไม้ ที่เรียกว่า “ตองตึง” แบบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเฉลียงหรือระเบียงที่มีชายคาคลุมถึง มีนอกชานและบันได บางบ้านมีรั้วล้อมรอบและใช้หนามไผ่วาง พิงไว้ข้างรั้ว และรั้วที่ใช้ไม้ขัดเป็นตาสี่เหลี่ยมโปร่ง อาจมีต้นไม้หรือพืชสวนครัวเลื้อยอยู่บนร้าน ใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่วางกองฟืน ครกตำข้าว

          ส่วนตึกก่ออิฐถือปูนแบบสถาปัตยกรรมจีนหรือเก๋งจีน หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางสี ต่างๆ ผนังจะทาด้วยสีขาว มีช่องหน้าต่าง มีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น ปลูกอยู่เป็นกลุ่ม ภายในรั้วเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบ้านของขุนนาง ข้าราชการ คหบดี

          ภาพปราสาทราชวัง จะมียอดแหลมปิดทอง และเขียนรายละเอียดด้วยเส้น มีกำแพงล้อมรอบ มีป้อมประตูเมือง

          ภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตหรือภาพกาก ส่วนใหญ่จะเขียนภาพแทรกปนไปกับภาพการดำเนินเรื่อง บางครั้งไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเลย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของชาวบ้านเช่น ภาพประเพณีลอยกระทงเสียหัว งานบุญบ้องไฟ การฟ้อนรำ ตลกขบขัน การละเล่นมี ตะกร้อ ขี่ม้าส่งเมือง การเข้าป่าล่าสัตว์ เลี้ยงวัว ควาย และการฝึกช้าง

ลักษณะการแต่งกาย

          เด็ก มักเปลือยกายทั้งผู้หญิงและชาย บางคนใส่จับปิ้ง บางคนสวมหมวก ทรงผมมี แกละ จุก หัวโล้น บางคนมีเครื่องประดับ เช่น ต่างหู สายสร้อย กำไลมือและเท้า

          ผู้หญิง ไว้ผมทรงปีก นุ่งโจงกระเบน นุ่งผ้าลายทางน้ำไหลสีต่าง ๆ บางคนไม่สวมเสื้อแต่ห่มผ้าสไบ มีทั้งผ้าพื้นและผ้าลาย การห่มผ้ามีหลายวิธี ห่มแบบสไบเฉียงปล่อยชายไว้ข้างหลัง บางคนเอาชายสไบคลุมหัวไหล่ การใช้ผ้าคล้องคอแล้วปล่อยชายลงมาคลุมปิดหน้าอก บางคนใช้ผ้าแถบรัดอกแล้วเหน็บชายพกไว้ที่ข้างอก สตรีบางคนเกล้ามวย บางคนเสียบดอกไม้ไว้ที่มวยผมคล้ายผู้หญิงชาวเหนือหรือพวกไทลื้อ

          ผู้ชาย ไว้ผมทรงมหาดไทย ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบน มีทั้งสั้นและยาว เรียกว่า “ถกเขมร” มีผ้าขาวม้าคาดพุง นุ่งโสร่งก็มี ถ้าเป็นผู้มีอันจะกิน ข้าราชการหรือคหบดี ก็จะใส่เสื้อแขนยาว นุ่งโจงกระเบนหรือผ้าม่วง มีผ้าขาวม้าคาดพุงเช่นเดียวกัน

          ลักษณะทางสังคม เป็นภาพแทรกที่แสดงลักษณะทางสังคมในปัจจุบัน (ขณะเขียนภาพ) ซึ่งอาจถือได้ว่าคงเป็นข้อบังคับในการเขียน เพราะจะเห็นภาพเช่นนี้เกือบทุกที่ในงานจิตรกรรมฝาผนัง เป็นเรื่องราวที่ชวนให้สนุกสนาน เช่น ภาพการเล้าโลม ภาพแสดงอวัยวะเพศ จึงให้แง่คิดว่าช่างเขียนอาจเป็นผู้กำหนดเรื่องราวทั้งหมดหรืออาจเป็นความต้องการของผู้ว่าจ้างมาเขียนก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามภาพเหล่านี้เป็นภาพจำลองเหตุการณ์ ซึ่งเป็นภาพตัวตนของคนในสมัยนั้น

          ประวัติศาสตร์ของชุมชนบริเวณอำเภอเสาไห้นี้ เดิมจะประกอบไปด้วย ชาวไทยวน (โยนก) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากล้านนา ทางภาคเหนือกับชาวไทยภาคกลาง และชนกลุ่ม เช่น จีน กะเหรี่ยง คนป่า การแต่งกาย บ้านเรือน อาชีพ ประเพณี จึงถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเขียนแสดงลักษณะทางสังคมของคนในสมัยนั้นได้ชัดเจน

          ภาพแสดงความสัมพันธ์ ของคนในครอบครัวของกลุ่ม เช่น ฉากการเกี้ยวพาราสีของหญิงชาย การละเล่นมีทั้งการร่ายรำ เล่นดนตรี ดื่มเครื่องดองของเมากันอย่างสนุกสนาม ภาพการเข้าป่าล่าสัตว์ และหาของป่า ภาพการเลี้ยงบุตรหลาน ภาพการอุ้มลูกอยู่ในอ้อมอก คนกำลังขอหรือสูบกัญชา ภาพกลุ่มเด็กกำลังแกล้งผู้ใหญ่ที่กำลังนอนหลับอย่างสบาย โดยการเอาไม้ไปแหย่ที่บริเวณระหว่างขา ภาพหญิงชายกำลังอาบน้ำในลำธารมีคนแอบมองอยู่ ซึ่งเป็นอารมณ์ขัน ส่อพฤติกรรมทางเพศ

    News


    “สมศักดิ์” ย้ำ ระบบยาที่มั่นคงช่วยเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจสุขภาพ ดันไทยสู่ Medical and Wellness Hub


    ไอคอนคราฟต์ ชวนรื่นเริงรับสงกรานต์กับแคมเปญ “The Art of Thai Celebration” เติมสีสันเทศกาลไทยด้วยสินค้าภายใต้แคมเปญ ICONCRAFT Co:Create พบกับคอลเลกชันพิเศษ ICONCRAFT x NAKROB MOONMANAS ตลอดเดือนเมษายน


    เอ็ม ดิสทริค ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน จัดงาน “ไทยหรรษา มหาสงกรานต์” ปักหมุดแลนมาร์กฉลองสงกรานต์สุดยิ่งใหญ่ใจกลางสุขุมวิท

    Travels


    SIAM FANTASY @ ASIATIQUE The world class cultural and martial art show


    Agent Trip อุทัยธานีเมืองน่าเที่ยว


    นั่งรถไฟ...ไปล่องแก่งหินเพิง

    Hotels


    The Oasis Spa Bangkok Sukhumvit 31


    Zantiis Ndol Villas MUAKLEK-KHAOYAI


    ที่พักเขาค้อ 3แบบ..3สไตล์

    Food&Drinks


    อันอัน เหลา อาหารจีนเบตงระดับตำนาน


    ห้องอาหารเปรมประชากร โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น


    Edo Japanese Restaurant บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพรีเมียม อิ่มจุกสะใจ!!


    Le Khwam Luck Cafe Bar & Restaurant


    ลีญอง เฟรนช์ ควิซีน อาหารฝรั่งเศสขนานแท้ในบรรยากาศอบอุ่น นั่งสบาย


    “Chyna by Tommy Tang” ร้านอาหารระดับ Global Cuisine โดย Tommy Tang สุดยอดเชฟเซเลบฯ ระดับตำนานของดาราฮอลลีวู้ด

    ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
    email : charoen70@gmail.com


    ออกแบบโดย touronthai